ในเอเซียตะวันออกนั้น มีแต่ไทยที่หยุดวันชดเชยวันอังคารที่ 2 มกราคม การหยุดงานมาก ๆ ทำให้ชาติพัฒนาน้อย แต่ในยุคสมัยของรัฐข้าราชการ ก็ตอ้งหยุดยาวๆ หรืออย่างไร ดร.โสภณ เสนอรัฐให้ลดวันหยุดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) สำรวจจากมิตรสหายในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศปรากฏว่าแทบไม่มีประเทศใดหยุดชดเชยในวันอังคารที่ 2 มกราคม 2561 เลย 1. ประเทศในอาเซียนที่ไม่หยุดในวันอังคารที่ 2 มกราคม ได้แก่ กัมพูชา บรูไน มาเลเซีย เมียนมา ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ยกเว้นในอินโดนีเซียที่เอกชนส่วนใหญ่หยุด แต่หน่วยราชการและสถาบันการเงินทั้งหมดทำงานในวันอังคารที่ 2 มกราคม 2. ประเทศในเอเซียอื่นที่ไม่หยุดในวันอังคารที่ 2 มกราคม ได้แก่ เกาหลี จีน ญี่ปุ่น อินเดีย (ยกเว้นรัฐมิโซรัมที่ติดกับเมียนมา) ฮ่องกง 3. ประเทศที่หยุดในวันอังคารที่ 2 มกราคม มีไทยและฟิลิปปินส์ เท่านั้น สำหรับวันหยุดชดเชย "สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ นร 0205/ว83 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2544 แจ้งมติ ครม.ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2544 (ในสมัยรัฐบาลทักษิณ) ซึ่งมีมติว่า โดยที่ประเทศไทยยังไม่พ้นจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐทุกคนควรต้องตระหนักและต้องทุ่มเทการทำงานเสียสละเพื่อประเทศชาติ ทุกฝ่ายควรต้องเร่งรัดการปฏิบัติงานเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศ จึงให้ยกเลิกหลักการวันหยุดชดเชยของทางราชการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2538 และให้ถือเป็นหลักการว่า กรณีวันหยุดราชการประจำปีวันใดตรงกับวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ ให้เลื่อนวันหยุดราชการประจำปีวันนั้นไปหยุดในวันทำการถัดไป โดยให้หยุดชดเชยได้ไม่เกินหนึ่งวัน ทั้งนี้ให้ถือเป็นหลักปฏิบัติในวันที่ 1 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นไป" (https://goo.gl/DkvHne) ยิ่งกว่านั้น ในสมัยรัฐบาลทักษิณ เคยสั่งการให้มี "โครงการปรับขยายเวลาการให้บริการประชาชนของกระทรวงมหาดไทย (Extra - Hour Services)" โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้บริการประชาชนโดยเปิดให้บริการประชาชน ในช่วงพักเที่ยงในวันทำการปกติ วันเสาร์เต็มวัน และช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดต่อเนื่อง ปรากฏว่า ผลการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2545 - วันที่ 31 ตุลาคม 2546 มีประชาชนมาใช้บริการทั้งสิ้นจำนวน 2,096,383 ราย แยกเป็น 1. จำนวนผู้ใช้บริการในวันเสาร์ จำนวน 908,930 ราย 2. จำนวนผู้ใช้บริการในช่วงพักเที่ยง จำนวน 1,104,335 ราย และ 3. จำนวนผู้ใช้บริการในช่วงเทศกาล จำนวน 83,118 ราย (https://goo.gl/rRjEqX) การจะอ้างว่าให้มีวันหยุดให้มากไว้ จะได้ให้ประชาชนไปเที่ยว เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นเป็นสิ่งทีขาดเหตุผลเป็นอย่างยิ่ง การทำงานมากต่างหากที่จะทำให้ประเทศชาติก้าวหน้า การหยุดมากและหยุดบ่อย คงคิดในมุมของราชการหรือในฐานะลูกจ้างมากกว่าการคิดในฐานะประชาชนคนเล็กคนน้อยซึ่งเป็นเจ้าของประเทศหรือคนส่วนใหญ่ที่ทำงานแทบไม่มีวันหยุดอยู่แล้ว การที่มีวันหยุดมาก และวันหยุดบ่อย ๆ โดยเฉพาะการชดเชยนานๆ นั้น ถือเป็นการหยุดยั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะส่วนราชการต่าง ๆ ต้อง "รับใช้ประชาชน" ให้มาก จะหยุดพร่ำเพรื่อคงเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ที่มา: https://goo.gl/Fej87b