10 หัวข้อที่น่าเคารพของพระพุทธ

กระทู้ใน 'สภากาแฟ' โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย, 11 Jul 2017

  1. ดร.โสภณ พรโชคชัย

    ดร.โสภณ พรโชคชัย สมาชิกทั่วไป

    สมัคร:
    6 Dec 2016
    คะแนนถูกใจ:
    2
    เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา AREA แถลงฉบับนี้จึงนำเสนอบทความของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th)
    ผมได้อ่านหนังสือ "คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่ วรรณกรรมพุทธประวัติในทัศนะใหม่" ที่แปลมาจากหนังสือ "Old Path White Clouds: Walking in the Footsteps of the Buddha" ซึ่งเป็นหนังสือพุทธประวัติที่เขียนโดยภิกษุ ติช นัท ฮันห์ และได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยโดย คุณรสนา โตสิตระกูล และคุณสันติสุข โสภณสิริ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง
    ความน่าเคารพของพระพุทธนั้น สุดยอดมากเท่าที่ผมพอจะมีปัญญาแหงนมองเห็น ดังนี้:
    1. พระพุทธละทิ้งโอกาสการเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกตามที่เคยมีพราหมณ์ทำนายไว้ พระองค์ยินดีที่จะค้นหาสัจธรรมมาโปรดสรรพสัตว์จนเป็นประโยชน์และยืนยงมาถึงทุกวันนี้ นี่แสดงถึงความยิ่งใหญ่กว่าการเป็นกษัตริย์
    2. พระพุทธทรงตระหนักดีว่ากษัตริย์ไม่มีอำนาจที่จะแก้ไขปัญหาสังคม อำนาจของกษัตริย์เปราะบางและมีอยู่อย่างจำกัด ในสมัยนั้น แม้พระเจ้าสุทโธทนะจะทราบว่าขุนนางละโมบและฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ก็จำต้องอาศัยพวกขุนนางทุจริตเหล่านี้รักษาบัลลังก์ ขุนนางเหล่านี้ต่างก็ขับเคี่ยวกันเพื่อมุ่งปกป้องและสร้างฐานอำนาจของตนเอง ไม่ใช่มุ่งขจัดความทุกข์ยากให้ผู้ยากไร้
    3. พระพุทธที่เป็นมนุษย์ผู้กลายเป็นศาสดานี้ มีความสามารถเอกอุเพราะศึกษาจนรอบรู้ เก่งคณิตศาสตร์และศาสตร์อื่นๆ รวมทั้งศิลปกีฬาอย่างหาใครเทียบไม่ได้ นี่คือการพิสูจน์ชัดว่าเก่งจริงไม่ได้อวย ก่อนตรัสรู้ก็ยังน้อมใจเป็นศิษย์ในหลายสำนัก นี่แสดงชัดว่าผู้ที่จะบรรลุธรรมได้ต้องศึกษาอย่างจริงจังต่อเนื่องจนรอบรู้และรู้แจ้ง เพื่อนำความรู้มาสังเคราะห์ด้วยตนเองในที่สุด ลำพังการบำเพ็ญเพียรในป่า หรือการยึดถือแต่คัมภีร์ ไม่ใช่หนทาง (เดียว) ที่จะบรรลุธรรมได้ หากต้องมีความรอบรู้อย่างยิ่งยอดในความเป็นจริงที่อเนกอนันต์ของชีวิต
    4. คำสอนของพระพุทธสุดยอด ท่านสอนว่าบุคคลไม่สามารถข้ามพ้นจากอวิชชาโดยการสวดอ้อนวอนและยัญบูชาอย่างงมงาย และไม่อาจกำจัดความโกรธความกลัวได้ด้วยการเก็บกดความรู้สึก ต้องใช้ปัญญาให้เกิดการรู้จริงถึงต้นเหตุปัญหา คำสอนของพระพุทธเป็นเป็นมรรควิธีแห่งการปฏิบัติ มิใช่เป็นคัมภีร์หรืออะไรที่มีไว้สำหรับยึดถือหรือบูชา คำสอนของพระพุทธนั้นไม่ใช่สิ่งลี้ลับยากเย็น เพราะแม้แต่เด็ก ๆ วรรณะจัณฑาลผู้ไม่มีการศึกษา ก็ยังฟังเข้าใจ
    5. พระพุทธเน้นความเป็นวิทยาศาสตร์โดยกล่าวว่า หากการหมายรู้ของบุคคลถูกต้องแม่นยำ (ด้วยการใช้ข้อมูล ความรู้ และปัญญา) ความจริงก็จะปรากฏ พระพุทธสอนให้เชื่อและยอมรับสิ่งที่สอดคล้องกับมโนธรรมสำนึก สิ่งที่บัณฑิตผู้มีคุณธรรมและปัญญายอมรับและสนับสนุน และสิ่งที่เมื่อปฏิบัติแล้วสามารถยังประโยชน์และความสุขแก่ทุกฝ่าย
    6. พระพุทธไม่ยึดติดว่าต้องถูกต้องเสมอ พระพุทธเคยแก้ไขคำพูดของพระองค์ให้ถูกต้อง กล่าวคือ ครั้งหนึ่งแนะนำให้พระอหิงสกะ (องคุลิมาล) บอกแก่หญิงผู้หนึ่งว่า ตั้งแต่พระอหิงสกะเกิดมา ไม่เคยประทุษร้ายชีวิตใด พอพระอหิงสกะทักว่า ถ้ากล่าวเช่นนั้นอาจตีความเป็นการพูดเท็จ พระพุทธจึงแนะให้พระอหิงสกะกล่าวใหม่ให้ชัดเจนว่า นับแต่วันที่ตนถือกำเนิดในอริยธรรม ไม่เคยประทุษร้ายชีวิตใดเลย เป็นต้น
    7. พระพุทธมีความรักที่แท้ที่ประกอบไปด้วยความปรารถนาดีและต้องการให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ หรือที่เรียกว่า เมตตาและกรุณา ซึ่งถือเป็นความงามประเภทเดียวที่ไม่จางหายและไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ ข้อนี้แตกต่างจากสัจพจน์สำคัญว่า “ที่ใดที่รัก ที่นั่นมีทุกข์” เพราะหากสูญเสียสิ่งที่ผูกพันไป ก็เสียดาย โดยเฉพาะความรักและความยึดมั่นที่มีราคะ ตัณหา และความยึดติด เป็นสาระสำคัญ
    8. พระพุทธไม่เห็นแก่คนใกล้ชิด เช่น การระมัดระวังในการปฏิบัติต่อสงฆ์กลุ่มที่เป็นญาติโดยไม่ให้สิทธิพิเศษใด การเข้มงวดแม้กระทั่งภิกษุณีมหาปชาบดี หรือพระโอรส คือ พระราหุลก็ไม่เคยนอนในกุฏิเดียวกับพระพุทธ พระราหุลยังเคยปรารภว่าพระพุทธไม่เคยปฏิบัติต่อท่านอย่างชื่นชอบเป็นพิเศษ แต่พระอหิงสกะ (องคุลิมาล) กลับได้รับคำยกย่องอย่างสูงยิ่งในฐานะโจรกลับใจผู้มีความอดทนสูงส่ง เป็นต้น
    9. พระพุทธไม่นิยมเผด็จการ เป็นประชาธิปไตย คำสอนของพระพุทธไม่อิงกับศรัทธาความเชื่อที่ห้ามโต้แย้ง พระพุทธสอนให้เคารพเสรีภาพทางความคิดอย่างแท้จริง คำสอนหรือสิกขาบางข้อ พระพุทธก็อนุญาตให้ยกเลิกโดยที่ประชุมสงฆ์ส่วนใหญ่ ไม่ใช้ต้องตายตัวทั้งหมด
    10. พระพุทธเป็นนักปฏิวัติสังคม ทรงมุ่งสร้างความเท่าเทียมในหมู่ชน โดยแสดงออกด้วยการดื่มน้ำแก้วเดียวกับเด็กชายวรรณะจัณฑาลทั้งยังให้เด็กคนนั้นดื่มก่อน และยังรับคนจัณฑาลเข้ามาอยู่ในคณะสงฆ์ เมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธแล้วก็พนมมือ น้อมกายเป็นการตอบรับเป็นการขอบคุณ พระพุทธเคยช่วยเด็กวรรณะจัณฑาลตัดหญ้าด้วย หรือร่วมกับพระอานนท์ช่วยกันอุ้มภิกษุที่อาพาธขึ้นเตียงและเปลี่ยนจีวรให้ แล้วยังช่วยขัดถูพื้นกุฏิและซักจีวรที่เกรอะกรังดินของภิกษุ
    การที่มนุษย์ผู้หนึ่งสามารถบรรลุธรรม จนประกาศศาสนาให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจมานับได้ 2560 ปีเช่นนี้ ทำให้เห็นชัดถึงศักยภาพของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าทั้งทางวัตถุและจิตใจอย่างอเนกอนันต์ได้ เราจึงต้องเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่สามารถเป็นอิสระจากอวิชชาด้วยการศึกษาอย่างจริงจังและเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาสังเคราะห์ด้วยปัญญาให้รู้จริง
    ที่มา: http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement2008.htm
     

Share This Page