ในเดือนพฤศจิกายน อสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเปิดตัวโครงการลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนนี้มีจำนวนโครงการเปิดขายใหม่ทั้งหมด 30 โครงการ ลดลงจากเดือนตุลาคม จำนวน 15 โครงการ อีกทั้งยังมีจำนวนหน่วยขายและมูลค่าลดลงด้วย รวมทั้งหมด 8,339 หน่วย และมีมูลค่ารวม 32,537 ล้านบาท ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) จำนวนอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นใหม่ในเดือนนี้มีทั้งหมด 8,339 หน่วย ลดลงจากเดือนที่ผ่านมาจำนวน 7,058 หน่วย (เดือนตุลาคม 2559 มีจำนวน 15,397 หน่วย) หรือลดลงประมาณ 46% เนื่องจากมีการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลง จึงทำให้มีจำนวนหน่วยขาย และมูลค่าลดลงตาม ประเภทที่มีจำนวนหน่วยเปิดขายใหม่มากที่สุดยังคงเป็นอาคารชุดเช่นเดือนที่ผ่านมา โดยมีจำนวนหน่วยเปิดขายทั้งหมด 5,490 หน่วย (66%) รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ 1,152 หน่วย (14%) ส่วนอันดับ 3 คือ บ้านแฝด 1,048 หน่วย (13%) ของจำนวนหน่วยขายที่เปิดขายใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้ ดร.โสภณ ได้เจาะลึกในรายละเอียดว่า สินค้าที่เปิดขายนั้น เปิดขายที่ระดับราคา 0.5-1.0 ล้านบาท จำนวน 1,360 หน่วย (16%) มูลค่าโครงการ 1,339 ล้านบาท (4%) ระดับราคา 1-2 ล้านบาท จำนวน 1,479 หน่วย (18%) มูลค่าโครงการ 2,417 ล้านบาท (7%) ระดับราคา 2-3 ล้านบาท จำนวน 1,912 หน่วย (23%) มูลค่าโครงการ 4,694 ล้านบาท (14%) ที่ระดับราคา 3-5 ล้านบาท จำนวน 2,323 หน่วย (28%) มูลค่าโครงการ 4,694 ล้านบาท (27%) ส่วนที่มีระดับราคาเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 15,214 หน่วย (15%) และมีมูลค่าโครงการ 30,239 ล้านบาท (47%) ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เปิดขายใหม่ทั้งหมดในเดือนนี้ เมื่อพิจารณาอัตราการขายได้ ดร.โสภณ สำรวจพบว่าในเดือนพฤศจิกายนมีอัตราการขายได้เฉลี่ยที่ 34% ซึ่งเท่ากับจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่มีจำนวนหน่วยขายมากและมีอัตราการขายได้สูง อันดับ 1 คือ อาคารชุดระดับราคา 0.5-1.0 ล้านบาท จำนวน 1,250 หน่วย ขายได้แล้ว 1,198 หน่วย มีอัตราการขายได้ 96% รองลงมาคือ อาคารชุดระดับราคา 10-20 ล้านบาท จำนวน 133 หน่วย ขายได้แล้ว 54 หน่วย มีอัตราการขายได้ 41% ผู้ประกอบการที่เปิดตัวโครงการใหม่ในเดือนนี้ เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 10 บริษัท คือ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) บริษัท เจ.เอส.พี. พร็อพเพอร์ตี้, เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน), บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน), บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน), บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ นอกจากนี้ก็ยังมีบริษัทในเครือ และบริษัททั่วไปอีกจำนวนหนึ่ง ดร.โสภณ เผยถึงทำเลที่ตั้งของโครงการที่เปิดตัวใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2559 ว่าตั้งอยู่ในเขตเมืองชั้นในจำนวน 6 โครงการ ชั้นกลางและส่วนต่อขยายของเมือง (intermediate area) จำนวน 22 โครงการ เช่น ถนนสรงประภา ถนนลาดพร้าว ถนนรามอินทรา ถนนบางนา-ตราด ถนนเทพารักษ์ ถนนประชาอุทิศ ถนนกาญจนภิเษก และบางกรวย-ไทรน้อย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอีก 2 โครงการที่อยู่ในพื้นที่รอบนอกซึ่งเป็นย่านชุมชนที่อยู่อาศัยในย่านนั้น เช่น ถนนติวานนท์ และถนนอัฉริยะพัฒนา เป็นต้น ดร.โสภณคาดว่าในเดือนธันวาคม 2559 น่าจะมีโครงการเปิดใหม่ลดลงไปอีก เนื่องจากเป็นช่วงปลายปี ภาวะในปัจจุบันอาจไม่เอื้อต่อการเปิดตัวโครงการใหม่มากนัก ประกอบกับอาจจะเข้าสู่เทศกาลการท่องเที่ยวขึ้นปีใหม่อีกด้วย โดยรวมแล้วในทั้งปี 2559 จึงน่าจะเปิดตัวน้อยกว่าปี 2557 และ 2558 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ที่มา: http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement1706.htm
อ้าวก็เห็นสรุปว่าเป็นเรื่องซีซั่นนิ่งในไตรมาสสุดท้าย ส่วนเปิดตัวน้อยกว่าปีอื่นๆก็ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก แถมรัฐก็แบกภาระขาดทุนจำนำ ทำให้งบประมาณส่วนนึงต้องคอยจ่ายหนี้ที่กู้มา จ่ายดอกเบี้ย จ่ายค่าโกดังเก็บข้าว จ่ายค่าจิปาถะ จำนำข้าวเป็นตัวดูดเงินงบประมาณใหม่กองไว้ ทำให้งบลงทุนลดลงไม่มีเข้าสู่ระบบกระจายตัวหมุนฟันเฟืองเศรษฐกิจ แถมเงินเก่าที่กู้มาจำนำข้าวเอามากองไว้ให้เน่า ก็ไม่หมุนเข้าสู่ระบบเพราะขายไม่ออก ถ้าตีซะว่าเงินจำนำข้าวห้าแสนล้าน ถ้าสามารถขายเอากลับมาเข้าระบบได้สักสามสิบเปอร์เซ็นต์คือแสนห้าหมื่นล้าน หมุนสักสามรอบก็สี่แสนห้าหมื่นล้านบาท เศรษฐกิจก็จะดีขึ้นกว่าที่เป้นอยู่ แถมประชาชนก็ยังหมดกำลังจากนโยบายรถคันแรกที่เริ่มปี 54-55 ซึ่งปีหน้าส่วนนึงที่ผ่อนแค่สี่ปีน่าจะเริ่มกลับมามีกำลังบริโภคเพราะผ่อนรถหมด ถ้าผ่อนเกินสี่ปี ปี 60 ก็จะยังไม่มีกำลังซื้อต่อไป นี่ถ้าไม่ได้รัฐบาลนี้มาจัดทิศทาง แก้ปัญหาจำนำข้าวให้เข้าที่เข้าทาง คงจะแย่ลงมากกว่านี้ ด๊อกเตอร์โสมมควรก้มกราบรัฐบาลด้วยซ้ำ
คงเพราะด็อกเตอร์อยู่วงการนี้ไงครับ สิ่งที่ต้องการคือการลงทุนอย่างมหาศาล ซึ่งจะทำให้ธุรกิจที่แกทำได้ประโยชน์
ผมเพิ่มเติมหน่อยเรื่องเงินจำนำข้าว เนื่องจากรัฐเป็นเจ้ามือเอง เมื่อขาย G to G เงินเข้ารัฐตรง อาจจะไม่สามารถหมุนได้สะดวก เพราะเมื่อเงินเข้ารัฐ จะเบิกจ่ายต้องมีการตั้งงบประมาณ ซึ่งอย่างที่รู้ต้องมีแผนและผ่านสภา ดังนั้นข้อเขียนผมอาจจะผิดไป นั่นคือ ถึงขายได้ก็อาจจะไม่มีเงินหมุนเวียนเท่าที่ควรด้วยซ้ำ ไม่เหมือนเอกชนค้าขายที่ ได้เงินมา มีกำไร ก็เอากำไรมาลงทุนเพิ่ม แต่รัฐขายได้ต้องเอามาเข้าคลัง เบิกจ่ายหรือเอามาลงทุนทันทีไม่ได้ ส่วนเรื่องรถคันแรก คนขายรถได้คือญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป เงินกำไรออกไปเกือบหมด