หลังจากวานนี้ (12 ม.ค.) คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกฎหมายลูกภาษีมรดก ออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกา 1 ฉบับ และร่างกฎกระทรวง 6 ฉบับตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการจัดเก็บภาษี นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก 2558 จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 สำหรับการรับมรดกมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท โดยผ่อนปรนภาษีกับคู่สมรส บุพการี และบุตร เสียภาษี 5% ส่วนบุคคลอื่นเสีย 10% การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะเก็บจากฐานทรัพย์สิน 4 ประเภท ประกอบด้วย หลักทรัพย์จดทะเบียน (หุ้น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร หุ้นกู้) อสังหาริมทรัพย์ เงินฝาก ยานพาหนะ ทั้งนี้ ในกฎหมายมรดกกำหนดให้ผู้สมรสได้รับการยกเว้นภาษีมรดก ถ้านอกจากคู่สมรสที่เป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยจะต้องเสียภาษี ถ้าไม่ใช่บุคคลธรรมดาสัญชาติไทยให้ไปดูว่า ทรัพย์สินที่ได้รับมรดกนั้น คือ อะไร โดยถ้าเป็นทรัพย์สินที่เกิดในประเทศไทยจะต้องเสียภาษี แต่ถ้าทรัพย์สินที่เกิดในต่างประเทศ ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนกรณีผู้รับมรดกเป็นนิติบุคคลในไทยต้องเสียภาษี ส่วนถ้าเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ ต้องดูทรัพย์สิน ถ้าเป็นทรัพย์สินในไทยต้องเสียภาษี ถ้าไม่ใช่ ไม่ต้องเสีย สำหรับการยกเว้นภาษี ได้แก่ กรณีเจ้าของมรดกต้องการใช้ประโยชน์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือสาธารณะประโยชน์ โดยสรรพากรจะติดตามการใช้ประโยชน์เป็นเวลา 9 ปี รวมถึงส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัท องค์การมหาชน วัดวาอาราม สภากาชาดไทย มูลนิธิ หรือสมาคมตามประกาศกระทรวงการคลัง และหากไม่ทำตามวัตถุประสงค์การมอบให้ต้องเสียภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องแจ้งเสียภาษีภายใน 15 นับจากวันรับมรดก และสามารถยื่นผ่อนชำระภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี และยื่นคำร้องผ่อนชำระแต่ละงวด จำนวนปีตามแบบที่กำหนด กรณีชำระภายใน 2 ปี ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม กรณีผ่อนชำระเกิน 2 ปี ต้องเสียเงินเพิ่ม 0.5 ต่อเดือน หากผิดนัดชำระจะหมดสิทธิ์ผ่อนชำระตามกำหนด รัฐบาลจึงส่งร่างกฎหมายทั้งหมดให้กฤษฎีกาพิจาณาเพิ่ม