รัฐบาลแต่ละรัฐบาลก็จะพยายามสร้างเขื่อน แต่ในเมืองไทยก็มีกระแสการต่อต้านการสร้างเขื่อนกันขนานใหญ่อยู่เนือง ๆ แต่มาในยุคสมัยรัฐบาลนี้ชักเงียบเสียงลง ไม่รู้เพราะสู้อยู่ข้างถนนแล้วได้ดิบได้ดีไปแล้ว จึงเจอลาภยศอุดปากไปหรืออย่างไร เพราะการเคลื่อนไหวต่อต้านเขื่อนในช่วงที่ผ่านมา กลายเป็นว่าเขื่อนมีภาพเป็น "ผู้ร้าย" แต่ในความเป็นจริง มีเขื่อนในประวัติศาสตร์มากมาย ในจีนโบราณก็มี ในหนังเรื่องเปาบุ้นจิ้น ยังมีการสอบสวนกรณีทุจริตสร้างเขื่อน เรามาดูความจริงเกี่ยวกับเขื่อนที่ไม่บิดเบือนกันดีกว่า เขื่อนในประวัติศาสตร์ เขื่อนแห่งแรกในโลกชื่อ Jawa อยู่ในประเทศจอร์แดน ประมาณ 100 กิโลเมตรจากกรุงอัมมาน อายุของเขื่อนนี้คือประมาณ 5,000 ปี (3,000 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นเขื่อนสูง 9 เมตร มีขอบกว้าง 1 เมตร ยาว 50 เมตร ก่อด้วยดินและหิน เขื่อนโบราณในยุคอียิปก็คือเขื่อน Sadd-el-Kafara ประมาณ 25 กิโลเมตรทางใต้ของกรุงไคโร เขื่อนนี้ยาวถึง 102 เมตร และสร้างหลังเขื่อนแรกราว 200-400 ปี (อายุ 4,600-4,800 ปีมาแล้ว เขื่อนนี้มุ่งใช้ป้องกันน้ำท่วม ส่วนในอินเดียก็มีกาสร้างเขื่อนมาหลายพันปี ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำ 16 อ่าง เขื่อนขนาดใหญ่และคลองส่งน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้สอย ในประเทศเยเมนเมื่อ 3,700 ปีก่อนก็มีเขื่อนขื่อ Marib โดยมีความยาวถึง 580 เมตร สร้างขึ้นด้วยหิน และภายหลังได้ยกระดับสูงขึ้นเป็นเขื่อนสูงถึง 14 เมตร รวมทั้งระบบส่งน้ำยาวนับกิโลเมตร ทั้งนี้ได้มีการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่องหลายร้อยปี แสดงว่าเขื่อนไม่ได้หมดอายุไปง่ายๆ (http://bit.ly/2yJZbUv) เขื่อน 2,200 ปีที่ยังใช้การอยู่ สำหรับในประเทศจีน มีเขื่อนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งคือ "ตูเจียงเยี่ยน" โดยเป็นเขื่อนโบราณอายุราว 2,200 ปี เขื่อนนี้อยู่ในมณฑลเสฉวน เขื่อนนี้ถือเป็นการจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เขื่อนนี้ "กั้นแม่น้ำหมินเจียงทางตะวันตกของตำบลกวนเซียน ห่างจากตัวเมืองเฉิงตูออกไป 59 กิโลเมตร. . .ประกอบด้วย ส่วนแรกคือ เขื่อนแยกน้ำ ผ่าแม่น้ำออกเป็นสองสาย ส่วนที่สองเป็นช่องระบายทราย (และส่วน) สุดท้ายคือช่องเก็บน้ำเป่าผิงโข่ว เป็นเหมือนประตูน้ำ สามารถควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่แม่น้ำสายใน" (http://bit.ly/2zyNjlO) ว่ากันว่าชาวจีนมีคำพูดว่า "ผู้ใดกำหนดน้ำได้ ผู้นั้นปกครองประเทศได้" แต่สำหรับประเทศไทย กลับมีกระแสที่พยายามไม่ให้ฝืนธรรมชาติ ยอมเป็นทาสธรรมชาติ!?! อาจกล่าวได้ว่าเขื่อนตูเจียงเยี่ยนกลายเป็นมรดกโลกไปแล้ว โดยองค์การยูเนสโกยกย่องไว้เมื่อปี 2542 และได้รับการดูแลรักษาอย่างดี กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจีนไปอีกต่างหาก จะเห็นได้ว่าชีวิตของเขื่อนนั้นยาวนานนับพันปีก็ว่าได้ เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก จีนได้เปิดใช้เขื่อนสามผาหรือเขื่อนทรีจอร์จ (Three Gorges ) อย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่กลางปี 2555 เขื่อนดังกล่าวกั้นแม่น้ำแยงซีเกียง อยู่ในเขตเมืองหยีชาง มณฑลหูเป่ย ถือเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีกังหันน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าถึง 32 เครื่อง. . . หากเขื่อนสามผาเดินหน้าผลิตกระแสไฟฟ้าเต็มกำลัง จะสามารถผลิตได้มากถึง 22.5 ล้านกิโลวัตต์ (http://bit.ly/2yPkOU9) เขื่อนนี้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2536 ด้วยงบประมาณกว่า 22,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (750,000 ล้านบาท) เขื่อนนี้ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าภายในประเทศ และเป็นแหล่งกักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลาก เพื่อป้องกันเหตุน้ำท่วม และแจกจ่ายน้ำให้แก่เกษตรกรในช่วงหน้าแล้งโดยไม่ปล่อยให้น้ำไหลลงทะเลไปอย่างน่าเสียดาย (โดยไม่ได้ใช้สอยก่อน) รวมถึงยังเป็นการเพิ่มความสะดวกให้แก่การเดินเรือในแม่น้ำแยงซีอีกด้วย เพราะมีท่าเรือใหม่อีก 50 แห่ง เขื่อนมีค่าอเนกอนันต์ เขื่อนนั้นมีมูลค่าที่แน่นอน ดร.โสภณ พรโชคชัย เคยไปตีราคาเขื่อนในชวา อินโดนีเซีย โดยมีชื่อว่าเขื่อน Cirata ซึ่งอยู่ที่จังหวัดชวาตะวันตก ที่ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1,428 กิกะวัตต์ต่อปี โครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2531 ในการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ได้โยกย้ายชุมชนต่างๆ รวมแล้วถึง 6,335 ครัวเรือน รวมจำนวนประชากรถึง 56,000 คน แต่จากการมีเขื่อนมาเป็นเวลาถึง 27 ปีแล้ว ปรากฏว่าสามารถผลิตไฟฟ้าได้มูลค่ามหาศาล ส่งน้ำไปบำรุงกลายเป็นการชลประทานได้เป็นจำนวนมาก เป็นการพิสูจน์ชัดว่า การมีเขื่อนย่อมดีกว่าที่จะไม่มีเขื่อน ต้นทุนในการก่อสร้างเขื่อนนี้เป็นเงิน 769 ล้านดอลลาร์ แต่รัฐบาลอินโดนีเซียกู้เงินไว้ 279 ล้านดอลลาร์ โดยในเวลานั้น (2531) อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงิน 970 รูเปียต่อ 1 ดอลลาร์ ในขณะที่ปัจจุบันสูงถึง 13799 รูเปียต่อ 1 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดถึงความคุ้มค่า ก็คงพอๆ กับเขื่อนภูมิพลของไทย ที่ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา (2507-2557) ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ถึง 27 ล้านคน ผลิตไฟฟ้าเป็นมูลค่าถึง 342,418.46 ล้านบาท หล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตรรวมมูลค่าถึง 4.7 ล้านล้านบาท ฯลฯ ดังนั้น การสร้างเขื่อนจึงคุ้มค่ามากในระระยาว เดี๋ยวนี้เขาหันมาสร้างเขื่อนกันใหญ่แล้ว ในปัจจุบันแม้แต่ธนาคารโลกยังหันกลับมาสนับสนุนการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าสะอาด และลดโลกร้อนกันแล้ว โดยเฉพาะการพัฒนาเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อการผลิตไฟฟ้า แม้แต่การผลิตไฟฟ้าด้วยเขื่อนขนาดเล็กก็มีการดำเนินการกันทั่วไป ที่ว่าทั่วโลกรื้อทิ้งเขื่อนจึงไม่จริง ปริมาณเขื่อนที่สร้างใหม่มีมหาศาลกว่าที่ "โพนทะนา" กันว่ามีการรื้อทิ้ง (http://bit.ly/1VYbyDu) ฝ่ายเอ็นจีโอทำโปสเตอร์ "โฆษณาชวนเชื่อ" ต้านเขื่อนว่า "เขื่อนกำลังเอาท์ ไม่มีใครเอาแล้ว" ถือเป็นการ "แหกตา" คนไทยโดยแท้ ในปี 2555 มีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนเกิดขึ้นใหม่ถึง 125 แห่ง ในสหรัฐอเมริกา เพิ่มจากปี2554 ซึ่งมีโครงการใหม่ 95 แห่ง ยิ่งกว่านั้นยังมีโครงการที่รอการอนุมัติในอีก 45 มลรัฐ รวมไฟฟ้าที่จะผลิตได้ถึง 60,000 เมกกะวัตต์ ไฟฟ้าจากพลังน้ำของสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนราว 7% ในสหรัฐอเมริกาจากเขื่อนผลิตไฟฟ้า 2,500 แห่ง และอันที่จริงจะสามารถเพิ่มความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้อีก 15% เมื่อได้ติดตั้งเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าในอื่นเพิ่มขึ้นอีก 600 แห่ง ในกรณีประเทศไทย ถ้าเราได้สร้างเขื่อนแม่วงก์ตั้งแต่ปี 2555 วันนี้ก็ไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องว่าป่าเสื่อมโทรมนี้ต้นไม้ฟื้นตัวแล้วเพราะถูกเตะถ่วง ไม่ต้องเปลืองงบไปฟื้นฟูต้นไม้ ไปปลูกป่าที่อื่นคุ้มกว่า ปีหนึ่งๆ ป่าไทยหายไป 1 ล้านไร่ ถ้าเอาที่สร้างเขื่อนแม่วงก์สัก 13,000 ไร่ไปพัฒนา ก็จะมีน้ำท่าสมบูรณ์ ต้นไม้จะงอกงามหลายเท่าตัว สัตว์ป่าก็จะมีอาหารและน้ำมากขึ้น ขยายพันธุ์ชุกชุม มีน้ำดับไฟป่า ประชาชนคนเล็กคนน้อยก็จะมีระบบชลประทาน แก้น้ำท่วม ฝนแล้ง มีน้ำผลิตไฟฟ้า ประปา ทำประมง ทำการท่องเที่ยว ฯลฯ เศรษฐกิจและสังคมก็จะมั่นคง แต่บางคนพูดพิลึกว่า สร้างเขื่อนแล้วฝนไม่ตกทำไง พูดอย่างนี้คงต้องทุบโอ่งให้หมด เขาศึกษามาแล้ว แถวนั้นฝนตกบ่อย ๆ มีน้ำไหลมารวมกันทุกปี จนเหลือล้น เก็บน้ำไม่กี่ปีก็ใช้งานได้ บางทีเราไม่ควรตัวอะไรเกินไป หรืออ้างอะไรไม่เข้าเรื่องเช่น มีเสือที่แม่วงก์ ถ้ามีจริง จะมีที่กางเตนท์ได้อย่างไร บ้างก็อ้างว่ามีนกยูงที่แก่งลานนกยูง ทั้งที่ไม่เคยมี แต่เป็นนกยูงที่ถูกพามาเลี้ยง (สร้างภาพต่างหาก) เป็นต้น ดูนานาชาติแล้ว สร้างเขื่อนเถอะครับ เพื่อชาติและประชาชน ที่มา: https://goo.gl/b2UYkL