เห็นพระคือสมเด็จฯ ป. อ. ปยุตโต เขียนเรื่องประชาธิปไตย ดร.โสภณในฐานะผู้เชี่ยวชาญอสังหาริมทรัพย์ (ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงเหมือนกัน) จึงขอเขียนถึงเรื่องนี้บ้าง โดยมีโจทย์ว่า สมเด็จฯ (อาจ) ไม่เข้าใจประชาธิปไตย!?! สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตโต) เขียนเรื่องประชาธิปไตยไว้ในหนังสือ "กรณีธรรมกาย บทเรียนเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนา และสร้างสรรค์สังคมไทยฉบับเพิ่มเติม-จัดลำดับใหม่" (http://bit.ly/VxBuIU) ในสมัยเป็นพระธรรมปิฎก และต่อมาเป็นพระพรหมคุณาภรณ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 24 - มกราคม 2551 หน้า 430-431 ไว้ดังนี้: "เสียงมากตัดสินความต้องการได้ แต่ตัดสินความจริงไม่ได้ ”. . . ๕๐๐ ปี (ก่อน). . .คนบอกว่าดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก. . . สมัยก่อนโน้น คนทั้งโลกเชื่อว่าโลกแบน. . .เรื่องความจริงนั้น ต้องใช้ปัญญา จะมามองผิวเผินแค่เห็นปุบปับไม่ได้และจะเอาความต้องการของเรา เอาความอยาก เอาความชอบใจเอาความปรารถนาของตัวไปตัดสินก็ไม่ได้ ประชาธิปไตยที่ตัดสินด้วยเสียงข้างมากนั้น ก็คือเขาดูความต้องการของประชาชน ว่าคนส่วนมากจะเอาอย่างไร แต่ถ้าขืนปล่อยให้มนุษย์เอาความต้องการกันดิบๆ ไม่นานก็คงวิบัติเขาจึงต้องให้มีการศึกษา เพื่อจะได้ให้คนส่วนมากนั้นมีปัญญารู้ว่า อะไรจริง อะไรดี ที่ควรจะเอา เพื่อให้ความต้องการของคนมาตรงกับธรรม คือจะได้เลือกเอาสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม เป็นประโยชน์ที่แท้จริง" ข้อนี้อาจเป็นความสับสนกล่าวคือในกรณีศิลปวิทยาการ จะไปถามคนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่แล้ว เช่น ถามคนส่วนใหญ่ว่าจะสร้างจรวดไปดวงจันทร์อย่างไรก็คงไม่ได้เรื่องแน่นอน หรือในกรณีรูปวาดที่แพงที่สุดในโลก 10 ภาพแรกที่ขายกันถึงภาพละ 4,800 - 9,600 ล้านบาท (http://bit.ly/2kQ5RKU) นั้น ถ้าถามชาวบ้านร้านตลาด ถามสมเด็จฯ หรือถามผม ผมก็คงมองไม่เห็นความสวยงามอะไรได้ลึกซึ้งปานนั้นได้ ดังนั้นเรื่องศิลปวิทยากร จึงเป็นข้อยกเว้น เข้าทำนองกฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น ไม่ใช่เฉพาะปราชญ์ด้านศาสนาอย่างสมเด็จฯ แม้แต่ปราชญ์ด้านกฎหมายอย่าง ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ก็ยังคิดทำนองนี้ ท่านว่า “จากคดี Perry v. Schwarzenegger ซึ่งศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาพิพากษา. . .ผลการลงประชามติของผู้ออกเสียงเลือกตั้งในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2551 ที่มีมติให้แก้รัฐธรรมนูญของแคลิฟอร์เนียเสียใหม่ เพื่อหวงห้ามมิให้คนเพศเดียวกันทำการสมรสกันได้นั้นขัดต่อหลักความเสมอภาคและขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา. . . เมื่อเสียงส่วนมากใช้ไปในทางที่ผิด ศาลซึ่งแม้เป็นเสียงข้างน้อยที่แสนจะน้อยก็มีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดให้เสียงข้างมากรับรู้ไว้” (http://bit.ly/1PrBeEb) แต่กรณีนี้อาจารย์กิตติศักดิ์ อาจเข้าใจผิดไป ในความเป็นจริงแล้ว: 1. ประชามติของชาวมลรัฐหนึ่งจะไปขัดกับรัฐธรรมนูญของทั้งสหรัฐอเมริกา (ซึ่งมาจากฉันทามติของคนทั้งประเทศ) ย่อมไม่ได้ ประชามติของคนกลุ่มย่อยเช่นนี้ย่อมไม่มีผล เช่น ชาวฮาวายจะลงประชามติแยกออกจากสหรัฐอเมริกาคงไม่ได้ มติของคณะโจรว่าจะไปปล้นบ้านไหน ชุมชนไหน ย่อมใช้ไม่ได้ เพราะโจรไม่ใช่คนส่วนใหญ่ในสังคม 2. อย่างไรก็ตาม หากมีการลงประชามติกันทั่วประเทศห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็ต้องแก้กฎหมายตามเสียงส่วนใหญ่ ผู้พิพากษาก็คงไม่อยู่ในวิสัยที่จะมาตัดสินเป็นอื่นได้ 3. ดังนั้นมันจึงเป็นคนละเรื่องกัน จะกล่าวว่า “ศาล (ผู้พิพากษาไม่กี่คน) ซึ่งแม้เป็นเสียงข้างน้อยที่แสนจะน้อยก็มีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดให้เสียงข้างมากรับรู้ไว้” ไม่ได้ เพราะเป็นการเปรียบเทียบแบบผิดฝาผิดตัว บางคนยังอ้างผิด ๆ ว่าเสียงส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจผิดพลาด เช่น กรณีการเถลิงอำนาจของนาซี โดยอ้างว่าฮิตเลอร์ก็มาจากการเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงก็คือ การเลือกตั้งในปี 2476 ดังกล่าว นาซีไม่ได้ชนะด้วยเสียงส่วนใหญ่ นาซีได้คะแนนเสียงเพียง 44% ทั้งนี้ยังเป็นการเลือกตั้งสกปรก รวมทั้งการทำลายคู่แข่งของฮิตเลอร์ การชนะด้วยเสียงข้างมากแต่ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่อยู่ดี (http://bit.ly/NrvayI) เรามายืนยันความถูกต้องกันเถิดว่าเสียงส่วนใหญ่คือสัจธรรม หรือสัจธรรมยืนอยู่ข้างคนส่วนใหญ่ การตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ย่อมถูกต้องเสมอ ดร.โสภณซึ่งเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ขอยกวิธีการประเมินค่าทรัพย์สินวิธีหนึ่งก็คือ การเปรียบเทียบตลาด (Market Comparison Approach) โดยผู้ประเมินต้องหาข้อมูลให้เพียงพอ เราจึงจะทราบได้ว่าในตลาดมีระดับราคาที่เรียกว่า “ช่วงชั้นราคาตลาด” (Zone of Market Prices) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “หั่งเส็ง” หรือ “หั่งเช้ง” ที่คนส่วนใหญ่ซื้อบ้านในราคาตลาด (Market Prices) ราคานั้นก็จะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง (Market Value) ของทรัพย์สินที่เราประเมินซึ่งอาจแตกต่างไปบ้างตามลักษณะเฉพาะของทรัพย์สิน พฤติกรรมตลาด (Market Behavior หรือ Market Practices) ในท้องตลาด เป็นผู้กำหนดราคาตลาด ซึ่งสะท้อนจากความเป็นไปได้ทั้งทางกายภาพ ตลาด การเงิน และกฎหมาย เช่น ในท้องถิ่นหนึ่ง ๆ ที่ดินที่เป็นที่นากับที่ดินที่เป็นสวนยางพารา หรือที่ดินที่มีระบบชลประทานกับที่ดินที่ไม่มี ย่อมมีราคาที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนตามพฤติกรรมตลาด อย่างไรก็ตามในตลาดที่ไม่สมบูรณ์ (Imperfect Market) กลไกตลาดอาจถูกบิดเบือนไปได้ในบางขณะสั้น ๆ แต่ไมใช่ตลอดไป อาจกล่าวได้ว่าเมื่อมีตลาด ก็จะมีราคา เพราะตลาดเป็นแหล่งสังเคราะห์อุปสงค์และอุปทานให้ออกมาเป็นราคาตลาด ถ้าเราไม่ฟังเสียงตลาดหรือคนส่วนใหญ่ เราก็จะไม่สามารถทราบราคาที่แท้จริงได้ เช่น หินดวงจันทร์ก้อนหนึ่งมีราคา 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่มีราคาเช่นนี้ก็เพราะมีพฤติกรรมตลาดที่แน่ชัดที่ผ่านการซื้อขายมาหลายต่อหลายครั้งในตลาด จนสามารถทราบได้นั่นเอง นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่สามารถไปดวงจันทร์ก็อยากได้หินมาทดลองทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงมีระบบตลาดของหินดวงจันทร์เกิดขึ้น นี่แสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมตลาดเป็นตัวกำหนดมูลค่า ในความเป็นจริงอาจมีข้อมูลที่สูงหรือต่ำผิดปกติ (Outliers) อยู่บ้าง ซึ่งย่อมเป็นความผิดพลาด (Errors) ที่อธิบายได้หรือยังอธิบายไม่ได้อันเป็นผลมาจากการจดบันทึกหรือเก็บข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน มีตัวแปรพิเศษ หรือกลุ่มตัวอย่างแตกต่างไปจากกลุ่มส่วนใหญ่ เช่น ปกติบ้านแบบเดียวกันในย่านนี้ มีราคา 1 ล้านบาท บวก/ลบ 10% แต่มีบางคนซื้อเพียง 5 แสนบาท เพราะเป็นบ้านที่ทรุดโทรมมาก หรือมีคนฆ่าตัวตายในบ้าน บางคนก็อาจซื้อถึง 2 ล้านบาท เพราะจำเป็นต้องซื้อหรือเพราะความไม่รู้ เราจึงต้องร่อนเอา Outliers ออกก่อนการวิเคราะห์และประมวลผล หาไม่ก็จะเป็นข้อมูลขยะ ถ้าเราเอาขยะเข้ามาวิเคราะห์ เราก็จะได้ขยะออกมา (Garbage In, Garbage Out) ในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ให้สาวกยึดมั่นในพระพุทธองค์ (หลังจากที่พระองค์ปรินิพพานแล้ว) แต่ให้ยึดมั่นในพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทน แม้แต่พระวินัยบางข้อ ถ้าที่ประชุมสงฆ์เห็นควรละเว้นแก้ไข พระพุทธเจ้าก็อนุญาตให้ทำได้ นี่แสดงว่าพระพุทธเจ้ายอมรับปัญญา และความเป็นอิสระของคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังปฏิเสธการแบ่งชั้นวรรณะ เห็นคนเท่าเทียมกัน บวชให้จัณฑาล จึงนับว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งประชาธิปไตย และจึงถูกทำลายหรือไม่ก็ถูกควบคุมให้อยู่ใต้อาณัติของวรรณะพราหมณ์และวรรณะกษัตริย์เรื่อยมา แต่การที่กฎทุกกฏย่อมมีข้อยกเว้น พวกเผด็จการทรราชจึงนำมาบิดเบือน สร้างความสับสนด้วยการอุปโลกน์ตนเป็นผู้นำ ผู้รู้ คนดีหรืออภิชนเหนือคนอื่น และข่มว่ามหาชนเป็นคนโง่ ถูกซื้อได้ง่าย ไร้สามารถ ขาดศักยภาพในการตัดสินใจ จำเป็นต้องมีผู้ยิ่งใหญ่ที่สวรรค์ส่งมานำทางให้ การบิดเบือนเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อให้ท้ายพวกเผด็จการทรราชมาทำการรัฐประหาร แล้วมาควบคุมประชาชน แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ก็มาโกงกิน ดังเช่นที่เห็นตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ สามทรราช รสช. คมช. มีใครเชื่อบ้างว่ารัฐบาลสุรยุทธ์และรัฐมนตรีเหล่านั้นใสสะอาดกว่ายุคอื่น ในยุคเผด็จการทรราชมักมีการโกงกินมากกว่าพวกนักการเมืองพลเรือนเพราะขาดการตรวจสอบและเพราะมักอ้างตนมีคุณธรรมเหนือผู้อื่น เผด็จการทรราชยังใช้อำนาจเขียนประวัติศาสตร์บิดเบือนต่าง ๆ นานา เช่น ในสมัย 6 ตุลาคม ก็หาว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเพื่อตอกย้ำความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร ก็จัดแสดงนิทรรศการอาวุธในธรรมศาสตร์ที่สนามไชย ซึ่ง ดร.โสภณในฐานะนักศึกษาผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่งมั่นใจไม่เคยมีอาวุธสงครามเช่นนั้น หาไม่ตำรวจ ทหารและกลุ่มฝ่ายขวาที่บุกเข้าไปคงต้องเสียชีวิตกันมากมายไปแล้ว ประชาชนมักถูกมองว่าเป็นแค่ “ฝุ่นเมือง” หรือ “ปุถุชน” (บุคคลผู้มีกิเลสหนา) แต่ในความเป็นจริง ปุถุชนหรือสามัญชนนี่แหละคือเจ้าของประเทศตัวจริง ไม่ว่าชนชั้นปกครองจากชาติใด หรือลัทธิใดมาครอบครอง สามัญชนก็ยังอยู่สร้างชาติ รักษาความเป็นชาติ เช่นที่เห็นได้ในประวัติศาสตร์จีน เกาหลี หรือล่าสุดในสมัยสงครามเวียดนามที่มีเพียงประชาชนระดับบนที่มีฐานะและโอกาสที่ดีกว่าที่หลบหนีออกนอกประเทศเพื่อความอยู่รอดส่วนตัว ดังนั้นเราจึงต้องตระหนักถึงคุณค่าของมวลมหาประชาชน โปรดน้อมนำพระบรมราโชวาท ร.7 ในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย 12 พฤศจิกายน 2473 ที่ว่า: "การปกครองแบบเดโมคราซีนั้น ผู้ที่ชนะแล้วได้เข้ามาปกครองบ้านเมือง . . . ส่วนผู้ที่แพ้ก็เหมือนกัน เมื่อแพ้แล้วก็ต้องยอมรับว่าตนแพ้ในความคิดในโวหาร แพ้เพราะประชาชนส่วนมากไม่เห็นด้วย เมื่อแพ้แล้วก็ตั้งกองวิวาทเรื่อยบอกว่า ถึงแม้คะแนนโหวตแพ้กำหมัดยังไม่แพ้ เช่นนั้นแล้วความเรียบร้อยจะมีไม่ได้ คงได้เกิดตีกันหัวแตกเต็มไป ฝ่ายผู้แพ้ควรต้องนึกว่า คราวนี้เราแพ้แล้วต้องไม่ขัดขวางหรือขัดคอพวกที่ชนะอย่างใดเลย ต้องปล่อยให้เขาดำเนินการตามความเห็นชอบของเขา ต่อไปภายหน้าเราอาจเป็นฝ่ายที่ชนะได้เหมือนกัน" (http://bit.ly/2kJNgO4) และโปรดเคารพเสียงของประชาชนคนเล็กคนน้อย “ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่ เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ที่มา: http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement1819.htm
ถ้าใช้ตรรกกะของด๊อกโส...... ก็แสดงว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ผ่านการลงประชามติตามกระบวนการประชาธิปไตย แถมใช้กฎหมายเก่าที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแตกต่างจากปี 40 การที่ศาลตัดสิน ทักษิณ มีความผิด จึงไม่ใช่กระบวนการเสียงส่วนน้อยล้มมติเสียงส่วนใหญ่อย่างที่เสื้อแดงกล่าวอ้าง
เอาที่สบายใจเลยละกันนะครับ dogtor หยิบหลักพระธรรมวินัย เอามาเปรียบเทียบกับดัชนีราคาหั่งเส็ง .... กูละกลุ้ม ...
เหอะ ดร.คนมีความรู้อย่าง ดร. ก็อยากให้คนเชื่อคำพูดตัวเอง ไม่ใช่เหรอ ถึงได้คอยแจกจ่ายกระทู้ ให้คนอื่นเค้าอ่านอะ ผมจะบอกอะไรให้ คนธรรมดาอย่างผม ไม่ต้องฉลาดมาก ก็ตีความ ท่าน ป. ได้ว่า คนส่วนใหญ่ เลือกเอาความต้องการ ของตัวเองทั้งนั้น ไม่งั้นเวลาเลือกตั้ง ทำไมต่างคนต่างออก นโยบายเอาใจ หาคะแนนเสียงประชาชนล่ะ ไม่ต้องไกลเลย เลือกตั้ง กทม. ดร.ก็ลงมาแล้ว ดร.มีความรู้ เรื่องอสังหาฯ ดร.ก็เอาจุดแข็งตรงนี้มาใช้ แต่พอเอาเข้าจริง ความรู้ ความสามารถ ดร. มันทำให้ ดร.มีคะแนน มากกว่า คนอย่าง วรัญชัย โชคชนะ แค่เกือบ 500 คะแนนเองนะ เพราะว่า ดร. พยายามหาเสียง เท่าที่สิ่งที่ตนมีจะอำนวย ไม่ได้ใช้กลไกอื่น ที่พวกนักการเมืองพรรคใหญ่ เค้ามีกัน นั่นหมายความว่า คนเก่ง คนดี ถ้าไม่สามารถ เข้าถึง คนทั่วไปได้ หรือ สามารถตอบสนองความต้องการได้ คน ๆ นั้น ก็ไม่ชนะ นี่ยังไม่นับรวม ความชอบส่วนตัวด้วยนะ ดร. ต้องอย่าพยายาม มองว่า ประชาชนส่วนใหญ่ จะเลือกในสิ่งที่ถูกต้อง เสียงประชาชนสำคัญก็จริง แต่ประชาชนเอง ก็ถูกชักนำได้ง่าย เพราะความรู้น้อยเกินไป หรือแม้แต่ คำนึงถึงตัวเองกันมากเกินไป ใช่ไหมล่ะ มันไม่ใช่ว่า ประชาชนจะรู้เท่าทันนักการเมือง ไปทุกคนนะ ผมกลับมองว่า ท่าน ป. พูดในสิ่งที่แม้แต่ คนธรรมดา ทั่วไป ยังมองออกได้ง่าย ๆ ก็มีแต่คนยึดมั่นถือมั่น ในหลักการว่า เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้องเท่านั้นอะ ที่ไม่พยายามยอมรับความจริง