สถานการณ์ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในกรุงเทพมหานคร

กระทู้ใน 'สภากาแฟ' โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย, 28 Feb 2018

  1. ดร.โสภณ พรโชคชัย

    ดร.โสภณ พรโชคชัย สมาชิกทั่วไป

    สมัคร:
    6 Dec 2016
    คะแนนถูกใจ:
    2
    ปัญหาผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเป็นปัญหาที่รุนแรงและเยียวยายากเพราะไม่ค่อยมีผู้สนใจ เป็นบุคคลอยู่ชายขอบของสังคม แต่พึงได้รับการเยียวยาให้คืนสู่สังคม เป็นกำลังสร้างสรรคฺ์สังคมได้
    ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชนที่ช่วยเหลือคนเร่ร่อนและผู้ด้อยโอกาส ได้จัดการแถลงข่าวในวันนี้ (พุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561) โดยมีคุณอัจฉรา สรวารี ผู้จัดการมูลนิธิเป็นผู้แถลงตัวเลขของการสำรวจรอบใหม่ ณ สิ้นปี 2560
    สถานการณ์คนเร่ร่อน
    คนเร่ร่อนหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ตามที่มีการแถลงไว้ก็คือ มีคนเร่ร่อนในเขตกรุงเทพมหานครอยู่ 3,630 คน ณ สิ้นปี 2560 เพิ่มขึ้น 175 คนจากปี 2559 แยกเป็นชาย 2,203 คน และหญิง 1,427 คน คนไร้ที่พึ่งจำนวนมากเป็นผู้สูงวัยที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ บางรายก็หมุนเวียนกันไป เป็นการเร่ร่อนชั่วคราวบ้าง สถานการณ์ที่พบนี้แสดงว่าปัญหาที่รุนแรงและขาดการเหลียวแลนี้ ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักในช่วงปีที่ผ่านมา นับเป็นสิ่งที่ดี
    ผลการสำรวจยังพบว่ามีคนเร่ร่อนประเภทชาวต่างชาติ 20 คน แรงงานประเทศเพื่อนบ้าน 52 คน ที่เป็นครอบครัวเร่ร่อนมี 348 คน และผู้มีความหลากหลายทางเพศ 22 คน

    คนเร่ร่อน-ขอทานต่างกัน
    คนเร่ร่อนนั้นแตกต่างจากขอทาน ขอทานเป็นอาชีพหนึ่งที่ใช้ความน่ารักน่าสงสารมาทำให้มีผู้ให้เงิน เข้าทำนองการหลอกลวงประชาชน ขอทานจะมีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำเสียอีก ค่าเฉลี่ยของรายได้ของขอทานรายหนึ่งเป็นเงินประมาณ 2,000 - 5,000 บาทต่อวัน รายได้ต่ำสุดที่ได้คือ 500 บาท ขอทานที่มีรายได้สูง จะทำตัวให้สกปรกที่สุด น่าสงสารเวทนาเป็นที่สุด หาก (แสร้ง) ทำแผลให้เหวอะหวะ (โดยใช้ถุงน่อง) หรือแสร้งแสร้งทำแขนหรือขาด้วยด้วยแล้ว ยิ่งมีรายได้สูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบขอทานเกลื่อนเมืองโดยเฉพาะในเขตใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานครนั่นเอง {1}

    อย่างไรก็ตามคนเร่ร่อนมีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากขอทานทั่วไปที่มีชาวต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ขอทานกลายเป็นอาชีพที่ขายความน่ารักน่าสงสาร กลายเป็นการทำบุญได้บาป แต่คนเร่ร่อนเกิดขึ้นจากปัญหาที่รุมเร้าต่าง ๆ นานาจนต้องออกมาเร่ร่อน เราพึงเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา และหาทางให้พวกเขากลับเข้าสู่สังคมโดยเร็ว พวกเขาไม่ใช่ขอทานที่งอมืองอเท้าขอเงิน

    แนวทางการแก้ไข
    การแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อน จะทำให้
    1. คนเร่ร่อนมีที่พักพิงแน่นอน ไม่เป็นภาระแก่สังคม และไม่ทำให้สังคมรู้สึกได้รับอันตราย
    2. คนเร่ร่อนไม่ต้องทรุดหนักลงเป็นบุคคลทุพพลภาพทางจิต หรือกลายเป็นปัญหาการรักษาพยาบาลที่หนักขึ้น
    3. มีโอกาสพัฒนาคนเร่ร่อนให้กลับเข้าสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    4. โอกาสที่สังคมจะเกิดคนเร่ร่อนจะน้อยลงหากสังคมได้รับการดูแลที่ดีกว่านี้
    การช่วยเหลือคนเร่ร่อนนั้นถือเป็นหลักสากลด้านสิทธิมนุษยชน เราไม่สามารถที่จะปล่อยให้มนุษย์ด้วยกันเร่ร่อน เช่นเดียวกับสุนัขจรจัด ต้องให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม การช่วยเหลือเหล่านี้ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือแบบไม่สิ้นสุด แต่เพื่อให้เขาสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างปกติสุขนั่นเอง หลักสิทธิมนุษยชนนี้ถือเป็นกฎหมายเพราะประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทยก็ต้องปฏิบัติตามปฏิญญาสากลเรื่องสิทธิมนุษยชนนี้

    การแก้ไขระดับนโยบาย
    ในระดับชาติ ประเทศไทยก็มีพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 {2} ซึ่งมีสาระสำคัญในการช่วยเหลือคนเร่ร่อนในฐานะคนไร้ที่พึงเช่นกัน ในประเทศอื่นเช่น สหรัฐอเมริกา สก็อตแลนด์ ก็มีกฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติเช่นกัน และในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็มีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาคนเร่ร่อนในหลายประเทศเช่นกัน {3}
    การแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนทำได้ยากเพราะที่ผ่านมากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับงบประมาณเพียงประมาณ 10,000 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดราว 2.7 ล้านล้านบาท หรือราว 0.37% เท่านั้น จึงไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลควรจัดเก็บภาษีมากกว่านี้โดยเฉพาะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่น และในขณะเดียวกันก็ควรที่จะแบ่งเงินมาพัฒนาสังคมมากกว่านี้

    ความเป็นไปได้ใน กทม.
    ในการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนนั้น ในกรณีกรุงเทพมหานคร อาจมีคนเร่ร่อนไม่มากนัก สมมติ ณ ระดับที่ 4,000 คน หากยังไม่ได้รับการแก้ไข ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขอาจเป็นเงินคนละ 500 บาทต่อวัน โดยแยกเป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ที่พักชั่วคราว การประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การจัดหางาน ฯลฯ หรือเป็นเงินปีละ 730 ล้านบาท หรือเป็นมูลค่าสำหรับการแก้ไขทั้งระบบ ณ อัตราคิดลด 8% เป็นเงิน 9,125 ล้านบาท จะเห็นได้ว่างบประมาณปีละ 730 ล้านบาทนี้ยังมีเพียงสัดส่วนเพียง 1% ของงบประมาณแผ่นดินของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นถ้ากรุงเทพมหานคร "เจียด" เงินมาดูแลสังคมมากกว่านี้ ปัญหาคนเร่ร่อนก็จะหมดไปได้อย่างง่ายดาย

    โดยสรุปแล้วการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนที่มีอยู่จำนวนไม่มากนักในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น สามารถทำได้ไม่ยากนัก เพราะยังมีจำนวนไม่มากนัก หากรัฐบาลจัดงานประมาณเพื่อการนี้ และได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ปัญหานี้ก็สามารถได้รับการแก้ไขเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเร่ร่อนหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ อย่าให้เกิดการบีบคั้นจนสังคมมีคนเร่ร่อนเต็มไปหมด

    มูลนิธิอิสรชน
    มูลนิธิอิสรชน เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินกิจกรรมกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในประเทศไทย โดยเริ่มทำงานในรูปแบบของอาสาสมัครมาตั้งแต่ปี 2539 และเมื่อถึงปี 2548 ได้ก่อตั้งเป็น “สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน” จวบจนปี2554 ได้พัฒนามาเป็น “มูลนิธิอิสรชน” มูลนิธิอิสรชนได้รับอนุญาตจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิอิสรชนในวันที่ 18 ตุลาคม 2554 การทำงานอย่างต่อเนื่องในตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาในนาม “อิสรชน” เพื่อสร้างความเท่ากันในสังคม มี ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นประธานมูลนิธิ

    การทำงานของมูลนิธิเน้นการทำงานกับตัวบุคคล มุ่งเข้าไปฟื้นฟูสภาพจิตใจและฟื้นฟูสภาพครอบครัว ชุมชน สังคม รอบข้างไปพร้อม ๆ กัน โดยใช้กิจกรรมการพูดคุย การเยี่ยมบ้าน เยี่ยมครอบครัว ชุมชน ของ ผู้ที่อยู่ในที่สาธารณะ เพื่อค้นหาคำตอบที่แท้จริงเพื่อนำมาวางแผนปรับกระบวนการในการทำงาน ในรูปแบบของอาสาสมัครพูดคุยสร้างแรงบันดาลใจเป็นสำคัญ

    อ้างอิง
    {1} AREA แถลง ฉบับที่ 42/2558: วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558: ขอทาน: ทำดีแบบมักง่าย-เป็นภัยของคนกรุง www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement870.htm
    {2} ดูพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ได้ที่ www.dsdw2016.dsdw.go.th/view_prnews.php?newsbuzz_id=1179
    {3} ดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนเร่ร่อนได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Anti-homelessness_legislation

    ที่มา: https://goo.gl/cZTkdm
     

Share This Page