รู้จักเสือดีแค่ไหน?

กระทู้ใน 'สภากาแฟ' โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย, 14 Feb 2018

  1. ดร.โสภณ พรโชคชัย

    ดร.โสภณ พรโชคชัย สมาชิกทั่วไป

    สมัคร:
    6 Dec 2016
    คะแนนถูกใจ:
    2
    เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวเจ้าของบริษัทใหญ่โตเข้าป่าไปล่าสัตว์ มีเสือดำและสัตว์ป่าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีหลายเรื่องเกี่ยวกับเสือที่เราอาจไม่ทราบ วันนี้ ดร.โสภณ จะมานำเสนอเรื่องเสือในด้านการตั้งถิ่นฐานโดยเปรียบเทียบกับคนสักหน่อย ในโลกนี้มีตำนานคนกับเสือ ที่ผูกพันกันมาตั้งแต่ปีนักษัตรจนถึงสุภาษิต คำพังเพยต่าง ๆ อยู่เสมอ ๆ เสือเป็นอยู่อย่างไรในป่าและในสวนสัตว์ (เปิด) เราไม่ควรไปล่าสัตว์ ทั้งบาปกรรมและผิดกฎหมาย แต่การอนุรักษ์ คือการปล่อยไว้ในป่าจริงหรือไม่

    อาณาจักรเสือ
    มีหลายเรื่องที่เราไม่รู้เกี่ยวกับเสือ เช่น ไม่มีเสือในป่าแอฟริกา {1} เสือผสมพันธุ์กันด้วยเวลาเพียง 15 วินาที {2} แต่อีกอย่างที่หลายท่านไม่ทราบคือ เสือตัวหนึ่งมีพื้นที่หากินตั้ง 100 ตารางกิโลเมตร {3} ผมตกใจ นี่ถ้ายกพื้นที่กรุงเทพมหานครขนาด 1,568 ตารางกิโลเมตร คงให้เสืออยู่ได้แค่ 16 ตัวเท่านั้น แต่กรุงเทพมหานครมีคนอยู่ถึง 6 ล้าน ประเทศไทยที่มีพื้นที่ 513,120 ตารางกิโลเมตร สามารถให้เสืออยู่ได้แค่ 5,132 ตัวเท่านั้น แต่คนไทยอยู่กันเกือบ 70 ล้านคนเข้าไปแล้ว แต่ในสหรัฐอเมริกา มีเสือเลี้ยง (ไม่ได้อยู่ในป่า) มากกว่า 5,000 ตัว {4}
    เรามาดูการตั้งถิ่นฐานของเสือสักหน่อย หลายคนอาจเข้าใจว่าในทวีปแอฟริกามีเสือ แต่แท้ที่จริงแล้วไม่มีเสือแม้แต่ตัวเดียว {1} แต่ว่ากันว่าเสือมีต้นกำเนิดในแอฟริกา ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่เสือกระจายไปทั่ว แต่ไม่เคยกลับมาอาฟริกาเลย หรืออาจเป็นเพราะมีป่าเขาน้อยกว่าทวีปอื่นและอาจมีทะเลทรายอันกว้างใหญ่และถิ่นฐานของมนุษย์คั่นอยู่ก็ได้ อาจกล่าวได้ว่าที่ไหนมีคน ที่นั่นมักไม่มีเสือ ยกเว้นในสวนสัตว์ปิด สวนสัตว์เปิด อุทยานแห่งชาติ เป็นต้น
    ประชากรเสือในทุกวันนี้อยู่ที่ไหนบ้างในธรรมชาติ (ไม่ใช่ในกรง) เช่น
    1. เสือโคร่งไซบีเรีย มีอยู่ในไซบีเรีย จีนที่ติดกับรัสเซีย และเกาหลีเหนือ ราว 200 ตัว
    2. เสือโคร่งเบงกอล อยู่ในเอเชียใต้และบางส่วนของพม่า มีอยู่ประมาณ 2,000 ตัว
    3. เสือโคร่งอินโดจีน อยู่ในป่าของพม่าที่ติดต่อกับไทย ทางตอนใต้ของจีนและภูมิภาคอินโดจีน คาดว่ามีอยู่ 1,200-1,800 ตัว ในไทยคาดว่าคงมีอยู่ 200-300 ตัว
    4. เสือโคร่งสุมาตรา พบได้เฉพาะบนเกาะสุมาตรา ประมาณ 250-300 ตัว
    5. เสือโคร่งจีนใต้ พบในประเทศจีนทางตอนใต้ ประมาณ 30 ตัว
    6. เสือโคร่งมลายู พบเฉพาะบนคาบสมุทรมลายู ประมาณ 490 ตัว
    ส่วนเสือโคร่งแคสเปียน เสือโคร่งชวา เสือโคร่งบาหลี ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ส่วนที่ว่าเมืองไทยเรามีเสืออยู่ถึงหลายร้อยตัวนั้น เคยมีใครเห็นซากเสือตายตามธรรมชาติบ้างไหม คงแทบไม่เคยเห็นหรือเป็นข่าว ทั้งนี้คงมีใครเอานำเอาซากไปขายหมดแล้วมากกว่าจะปล่อยให้อยู่ตามธรรมชาติ ถิ่นฐานของเสือกับของคนจึงอยู่ร่วมกันไม่ได้

    มีเสือไว้ทำไม
    เราอาจจะกลัวเสือ แต่แท้จริงแล้วเสือชอบอยู่อย่างสงบ เร่ร่อน จึงไม่ได้นิยมอยู่ถ้ำเสือประจำอย่างที่เราเข้าใจ และไม่ระรานใคร ยกเว้นในยามหิวจึงจะคร่าชีวิตสัตว์อื่นรวมทั้งมนุษย์ที่บังเอิญหรือตั้งใจเข้าไปในพื้นที่ของเสือ ที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์ที่เสือโคร่งเข้ามาทำร้ายมนุษย์แต่ไม่บ่อยนัก เช่น ในปี 2541 เสือโคร่งเพศผู้ตัวหนึ่งเข้ามาทำร้ายเจ้าหน้าที่ของอุทยานเขาใหญ่ และในปี 2519 เสือโคร่งตัวใหญ่อายุมากเขี้ยวหัก และไม่สามารถล่าเหยื่อตามธรรมชาติได้จึงมาล่ามนุษย์แทน {5}
    บางคนจึงสงสัยว่าแล้วอย่างนี้จะมีเสือไว้ทำไม คำตอบก็คือโลกนี้ไม่ใช่ของมนุษย์เท่านั้น ยังเป็นของสรรพสัตว์ด้วย พวกเอ็นจีโออาจตอบกวน ๆ ว่า มีเสือไว้กัดพวกนักทำลายป่าไง (ฮา) คำตอบนี้ก็พอมีเหตุผล เข้าทำนอง "เสือพี เพราะป่าปก และป่ารกเพราะเสือยัง" หรือ "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า" เป็นต้น แต่ก็เป็นความคิดโบราณหยุดพวกนักล่าสัตว์ไม่ได้ ทางที่ดีควรมีการปราบปรามพวกตัดไม้ทำลายป่า พรานป่าอย่างจริงจังด้วยงบประมาณที่เพียงพอ รวมทั้งการจัดการปัญหาการบุกรุกทำลายป่าซึ่งเป็นการลดอาณาเขตของเสือลงไปอย่างมาก และทำให้เสือสูญพันธุ์ได้

    เสืออายุสั้นเพราะกินสัตว์
    เสือที่เราเห็นแข็งแรงกว่าคนเรามากมายนั้นมีอายุเพียง 16 ปีในป่า แต่ถ้าเลี้ยงไว้ในสวนสัตว์ (เปิด) ก็จะมีอายุได้ถึง 26-30 ปี {6} ดังนั้นหากจับเสือมาอยู่ในกรง มาอยู่ในสวนสัตว์ปิด สวนสัตว์เปิด หรืออื่นใด ย่อมทำให้ชีวิตเสือยืนยาวกว่า แต่การพูดอย่างนี้พวกเอ็นจีโออาจเป็นเดือดเป็นแค้นใหญ่ อยากจับผมหรือใครใส่ในกรงบ้าง คือพวกนี้คงเห็นแก่เสือมากกว่าคน (ฮา)
    ที่เสืออายุสั้นก็เพราะเป็นสัตว์กินเนื้อต่างจากสัตว์กินพืช ลำไส้ของสัตว์กินเนื้อยาวเพียง 3 เท่าของร่างกาย เพื่อขับถ่ายเนื้อที่เน่าเสียออกได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่มนุษย์เหมือนกับสัตว์กินพืชอื่นคือมีลำไส้ยาวกว่าร่างกายถึง 10-12 เท่า เพราะพืชและผลไม้จะเน่าเสียช้ากว่า จึงผ่านการย่อยและดูดซึมเข้าผ่านลำไส้ได้ตามปกติไม่มีความจำเป็นต้องเร่งถ่ายออก {7} สำหรับเสือโคร่งส่วนใหญ่ในป่าของไทยประเทศไทยตายด้วยโรคพยาธิและโรคติดเชื้อ {3}

    อสังหาริมทรัพย์สำหรับเสือ
    การเปิดบริการสวนสัตว์ปิด สวนสัตว์เปิด อุทยานแห่งชาติที่ได้รับการดูแลอย่างดี ก็จะทำให้เสือมีความสุขและอายุยืนนาน โดยไม่ต้องกลัวว่าจะสูญพันธุ์ไปเสีย รายได้จากการเข้าชมก็ยังสามารถนำมาขยายกิจการอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้ ให้คนได้ศึกษาและเข้าใจธรรมชาติของเสือ ได้อนุรักษ์เสือและสัตว์ป่าอื่น ๆ และที่สำคัญได้มีทุนเพียงพอที่จะป้องปรามการบุกรุกทำลายป่า และการล่าสัตว์ป่าซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมายอีกด้วย
    การมีสวนสัตว์เปิดในฐานะที่เป็นอสังหาริมทรัพย์สำหรับเสือย่อมช่วยคุ้มครองเสือ จากการศึกษาเสือโคร่งในจิตวัน พบว่าลูกเสือโคร่งในปีแรกมีอัตราตายประมาณ 34% ในปีที่สองอัตราตายจะลดลงเหลือ 17% ดังนั้นการมีสวนสัตว์เปิดจึงดีกว่าการมีป่าธรรมชาติที่ขาดการดูแลเท่าที่ควร ปล่อยให้พรานป่าออกล่าสัตว์โดยขาดการป้องกันเท่าที่ควร ตัวอย่างที่ดีมากแห่งหนึ่งก็คือที่เขื่อนรัชประภา ปรากฏว่าหลังจากการสร้างเขื่อนแล้ว ปรากฏว่าสิงสาราสัตว์ขยายพันธุ์กันยกใหญ่ เพราะมีเขื่อนเป็นเหมือนปราการสำคัญในการป้องกันการล่าสัตว์ {8}

    แม่วงก์ไม่มีเสือ
    ที่ผ่านมามักมีข่าวว่าพบเสือในป่าแม่วงก์ เช่น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 ก็มีข่าว "พบเสือโคร่งที่ อช.แม่วงก์" {9} ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2557 ก็มีข่าว "ครอบครัวเสือโคร่งจากกล้องดักถ่ายอัตโนมัติ ณ ผืนป่าแม่วงก์-คลองลาน" {10} ล่าสุดกันยายน 2557 ก็มีข่าว "เสือโคร่งจากกล้องดักถ่ายอัตโนมัติ ณ ผืนป่าแม่วงก์-คลองลาน" {11} โดยในภาพ เสือก็อยู่บนภูเขาสูง ไม่ใช่ที่ตั้งเขื่อนแม่วงก์แน่นอน จะสังเกตได้ว่าการโกหกสร้างภาพมีเป็นระยะๆ
    ความจริงคือจุดที่สร้างเขื่อนเป็นชายขอบป่า เสือคงไม่มา แต่ก็เคยมีการพบรอยเท้าเสือแต่อยู่ห่างไกลออกไป ที่สำคัญบริเวณนี้เป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านและยังมีรีสอร์ตมากมาย มีจุดกางเตนท์ ซึ่งแสดงว่าไม่มีเสือจริง และจากประสบการณ์ในที่อื่น หากพบมีเสือ ก็จะถูกไล่ล่าจนได้ เพราะเป็นอันตรายต่อชาวบ้านทั่วไป {12} อย่าลืมว่าที่สร้างเขื่อนมีขนาดเพียง 0.1% หรือ 1 ใน 1,000 ของผืนป่าตะวันตก (แม่วงก์-คลองลาน) ขนาดเพียง 2 เท่าของเขตสาทร เขตที่เล็กที่สุดเขตหนึ่งของกรุงเทพมหานครได้อย่างไร เสือคงไปอยู่ในพื้นที่ 99.9% ของผืนป่าลึกมากกว่า

    เขื่อนแม่วงก์กับการสร้างบ้านแปงเมือง
    การสร้างเขื่อนแม่วงก์ ณ ชายขอบป่าซึ่งเป็นอดีตป่าเสื่อมโทรมและเคยมีคนอยู่อาศัยนับร้อยครัวเรือน แต่ย้ายออกเพื่อสร้างเขื่อนเมื่อเกือบ 30 ปีก่อนนั้น จะส่งผลดีต่อการขยายพันธุ์สัตว์ป่า มีน้ำและอาหารให้สัตว์ได้ดื่มกิน นอกจากนั้นยังจะทำให้ป่าไม้ชุ่มชื้นขึ้น มีน้ำไว้ดับไฟป่าซึ่งเกิดปีละนับร้อยครั้ง ในด้านการสร้างบ้านแปงเมือง ประชาชนคนเล็กคนน้อยก็จะได้ระบบชลประทาน ประปา ไฟฟ้า ประมงและท่องเที่ยวอีกด้วย ปัญหาความยากจน น้ำท่วม ฝนแล้งก็จะได้รับการแก้ไข
    ความเจริญที่จะได้จากเขื่อนเหล่านี้ ก็จะส่งผลให้ท้องถิ่นได้ภาษีมากยิ่งขึ้น เอาภาษีมาสร้างบ้านแปงเมืองให้ดียิ่งขึ้นอีก รวมทั้งการนำเงินไปป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า เพราะสัตว์ป่า และป่าสามารถนำมาหารายได้ได้ มีคนมาท่องเที่ยว ชาวบ้านจึงเลิกคิดตัดต้นไม้แม้สักต้นเดียว เพราะการตัดย่อมทำให้ไม้สูญไป แต่การเก็บไว้เพื่อนำมาสร้างรายได้ จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นมีความยั่งยืนกว่า

    เขื่อนแม่วงก์กับน้ำท่วม กทม.
    บางคนบอกสร้างเขื่อนแม่วงก์ป้องน้ำท่วม กทม.ได้แค่ 1% {13} ตอนแรกที่ผมอ่านข่าวนี้ก็ทำให้ผมโกรธที่รัฐโง่ทำสิ่งไม่คุ้มค่า แต่มาคิดอีกที ปริมาณน้ำมหาอุทกภัย ปี 2554 นั้น 10 เขื่อนภูมิพลยังอาจรับไม่ไหว แม่วงก์ก็มีขนาดแค่ 2 เท่าของสาทร เขตเล็กๆ ของ กทม. การอ้างนี้ถือเป็นการอ้างผิดฝาผิดตัว เขื่อนแต่ละแห่งก็เก็บน้ำ และแก้ปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วมในแต่ละท้องที่เป็นหลัก
    แต่หากมีการจัดการลุ่มน้ำ สร้างเขื่อนขึ้นมามากมายจากบ่อดินเก่าที่ลึก 30-50 เมตร และก่อขึ้นมาเป็นขอบรอบนอก ก็จะสามารถกักเก็บน้ำป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานครซึ่งก่อความเสียหายนับแสนๆ ล้านบาทได้เช่นกัน แต่ที่สำคัญ จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมฝนแล้งทั้งในเมืองและในชนบทได้อย่างถาวร ถือว่าคุ้มค่ามาก ในต่างประเทศก็สร้างกันมากมาย แม้ในญี่ปุ่น ดินแดนแผ่นดินไหว ก็มีเขื่อนจำนวนมหาศาลเกิดขึ้น

    สร้างเขื่อนแม่วงก์เถอะครับ เพื่อคน สัตว์ และป่าได้ประโยชน์กันทุกฝ่ายนะครับ
    ที่มา: https://goo.gl/9ze1Nz
     

Share This Page