ปัญหายางพารา ที่ราคาตกต่ำจนเกษตรกรชาวสวนยางทั่วทุกภาคเดือดร้อนกันอยู่ทุกวันนี้ ก็มีข่าวถึงการเรียกร้องให้แก้ปัญหาจากทางด้านชาวสวนยาง และข่าววิธีการแก้ปัญหาจากทางด้านรัฐบาล ซึ่งมักจะให้น้ำหนักไปที่การอุดหนุนทางการเงิน การลดเก็บค่าธรรมเนียม และการขอให้ต่างประเทศช่วยซื้อ แต่ก็มีบ้างที่มีการพูดถึงการเพิ่มการใช้งานเองภายในประเทศ ผมเจอข่าวชิ้นนี้ก็สงสัยว่าทำไมผู้ที่เกี่ยวข้องจึงไม่ลงมือทำกันอย่างจริงจัง การจะทำให้ผลผลิตยางพาราหายไปในปริมาณครั้งละมาก ๆ ต้องเพิ่มปริมาณการใช้ และจะต้องเน้นไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตในสิ่งที่ไม่เคยมีการทำมาก่อน วันพุธ 4 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 06:00 น. นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การจะทำให้ผลผลิตยางพาราหายไปในปริมาณครั้งละมาก ๆ ต้องเพิ่มปริมาณการใช้ และจะต้องเน้นไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตในสิ่งที่ไม่เคยมีการทำมาก่อน เพราะถ้าแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบเดิม ๆ เช่น ยางล้อรถ ก็จะมีการใช้ยางพาราในปริมาณเท่าเดิม ไม่ทำให้ผลผลิตยางพาราหายไปจากตลาดอย่างชัดเจนนัก แต่ถ้านำมาสร้างเป็นถนน ที่จะต้องใช้ปริมาณมากก็จะช่วยให้หายไปจากสต๊อกได้เร็ว และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา สร้างเสถียรภาพราคายางในระยะยาว สถาบันวิจัยยาง ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องการใช้ยางพาราผสมยางมะตอยราดถนน มาตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งวิธีแรกที่ทดสอบคือการใช้น้ำยางข้นหรือยางแผ่นรมควันมาผสมกับยางมะตอย โดยวิธีนี้จะต้องมีเครื่องมือผสมที่เหมาะสมและปลอดภัย เนื่องจากเวลาผสมน้ำยางข้นกับยางมะตอยจะเกิดปัญหาเรื่องฟองและ แรงดัน สถาบันฯ จึงสร้างเครื่อง ต้นแบบที่ใช้ผสมยางมะตอยกับยางพาราแบบเคลื่อนที่ ขนาดความจุ 5 ตัน และได้ทดลองนำไปราดผิวถนนในพื้นที่หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร 35 แห่ง ประมาณ 160,000 ตารางเมตร และร่วมกับกรมทางหลวงราดถนนบางแห่ง ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงขณะนี้ถนนยังมีสภาพดีอยู่ จากการทดสอบค่าความลึกของร่องล้อในห้องปฏิบัติการของกรมทางหลวงพบว่าถนนที่ราดด้วยยางมะตอยผสมยางพารามีความทนทานมากกว่าถนนที่ราดด้วยยางมะตอยปกติ เนื่องจากยางพารามีความเหนียว ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ทำให้การคืนตัวกลับดีกว่ายางมะตอย นอกจากนี้ ยังทนต่ออุณหภูมิได้ดีกว่า จากปกติค่าความอ่อนตัวของยางมะตอยจะอยู่ที่ประมาณ 50-54 เมื่อใส่ยางพาราเข้าไปจะมีค่าอ่อนตัวอยู่ที่ 60 กว่า ซึ่งเหมาะกับสภาพอากาศบ้านเรา ทั้งนี้ การใช้ยางพาราจะเข้าไปช่วยเสริมความแข็งแรงให้ถนน ยืดอายุการใช้งาน แต่การใช้เครื่องผสมที่คิดค้นขึ้นนี้มีข้อจำกัดเพราะต้องเคลื่อนย้ายไปผสมทุกสถานที่ที่ดำเนินการราดถนน ไม่เหมาะไปใช้ในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการใช้น้ำยางข้นที่ต้องผ่านกระบวนการแปรรูปก็มีค่า ใช้จ่ายเพิ่ม สถาบันฯ จึงทดสอบวิธีผสมยางพาราแห้งกับยางมะตอย ซึ่งสามารถนำยางแห้งที่มีอยู่ทั่วไปและมีหลายชนิด เช่น เศษยางที่ตัดมาจากยางแผ่นรมควัน (คัตติ้ง) เศษยาง ยางชั้น 5 ยางตกเกรด ยางที่มีความชื้นหรือยางมีเชื้อรา ก็สามารถนำมาใช้ได้โดยนำมาผสมกับยางมะตอยในเครื่องผสมแบบปิด สัดส่วน 1:1 เพื่อให้เป็นมาสเตอร์แบทซ์ หรือหัวเชื้อ จากนั้นนำไปต้มกับยางมะตอยและราดถนนตามปกติ ปัจจุบันวิธีการผสมยางพาราแบบแห้งนี้ถือว่าง่ายที่สุด อีกทั้งยังไม่มีข้อจำกัดเรื่องน้ำยางไม่ต้องแปรรูป เอาเศษยางมาทำได้เลย และสามารถขยายในเชิงพาณิชย์ได้ ปัจจุบันมีภาคเอกชนที่สนใจพร้อมจะลงทุนทำเครื่องมือผสมยางมาสเตอร์แบทซ์ หากมีนโยบายส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถ้าสามารถดำเนินการนำยางพารา มาใช้ในการทำถนนได้ ไม่เพียงแต่จะช่วย ดูดซับยางพาราที่ล้นตลาดออกมาได้ในปริมาณมากและรวดเร็ว โดยเฉพาะตอนนี้ราคายางตกต่ำ ยิ่งเป็นโอกาสดีที่ จะนำเอายางมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า เมื่อยางน้อยลง ราคา ก็จะเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด ซึ่งจะแก้ปัญหาเสถียรภาพราคายางได้โดยไม่เข้าไปทำให้ตลาดบิดเบือน. ที่มา http://www.dailynews.co.th/Content/...ร้างถนนด้วยยางพาราผสมยางมะตอย+-+เกษตรนวัตกรรม จากข่าวข้างบนซึ่งเป็นข่าวที่เชื่อถือได้เพราะเป็นการให้ข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐ ที่ศึกษาและทำงานด้านนี้โดยตรง และได้ทดลองใช้งานจริงมาแล้วกว่า 10 ปี แต่ไม่ทราบว่าทำไมรัฐบาลนี้และรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่เอาจริงเอาจังกับการเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศด้วยวิธีนี้ ทั้งๆที่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในทุกวันนี้ จึงขอนำมาตั้งเป็นกระทู้เพื่อเรียนถามพี่น้องชาวสภากาแฟ ซึ่งอาจมีข้อมูลอื่นๆที่แตกต่างออกไป
ได้ยินว่าลุงตู่ทำแล้วนิครับ มีบางที่ได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ภาพรวมยังถือว่าไม่มากนัก "ระบบ ข้าราชการไทยครับ" แถมข้าราชการบางส่วนที่เห็นว่า คสช. จะอยู่ไม่ยาวมองว่ากับทักกี้จะกลับมา ตอนนี้ก็แตะถ่วงอยู่มากครับ (แล้วทำไมลุงตู่ไม่ใช้ ม.44 เร่งรัด พรวดๆไปเลยฟะ เกรงข้อครหาว่าจะคอรัปชั่นหรือไง) หรือต้องแบบ สหฤหิ์ "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบเอง" แล้ว สั่งทำพรวดๆ ไปเลย ใครแตะถ่วงยัดคุกโลด
ราคาดี ปลูกยางกันมาก ผลผลิตมากราคาตก ดังนั้นในโลกความเป็นจริงจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะอุ้มราคา เพราะยิ่งอุ้ม คนยิ่งปลูกเยอะ
ผมก็เคยได้ยินเหมือนที่คุณ annykun ว่ามาเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่เห็นอะไรคืบหน้า ทำให้ชาวสวนยางร่ำๆว่าจะออกมากดดันอีก ส่วนเรื่องที่อยากให้ใช้อำนาจพิเศษผมก็ว่าน่าจะดีเหมือนกัน สั่งสำนักนายกให้ดูเรื่องระเบียบพัสดุ สั่งอุตสาหกรรมให้เร่งรับรองมาตรฐาน สั่งทางหลวงให้ปรับสเป็คยางราดถนน แล้วก็ออกข่าวไปเลยว่าประเทศไทยต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้นอีกปีละสองแสนตันทำให้ต้องลดการส่งออก บางทีอาจจะเกิดแรงซื้อในตลาดซื้อขายล่วงหน้าทำให้ราคาซื้อเพิ่มขึ้นได้
เรื่องนี้ แนะนำให้ลุงตู่ว่างๆ เชิญเจ้าของ สหศรีชัย ผู้จำหน่ายยางมะตอย ผูกขาดเจ้าเดียวในประเทศไทย มาปรับทัศนคติหน่อยว่า เฮ้ย ที่ผ่านมา พวกลื้อ รับประทานยังไม่พอหรือไงตั้ง 30-40 ปี ใจคอจะกินรวบไปตลอดหรือ เห็นใจพี่น้องชาวสวนยางหลายล้านคนที่กำลังจะตายบ้างเถิด จากนั้นเรียก ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง ฯลฯมาปรับทัศนคติกันอีกครั้งว่า ให้เลือกเอาว่าจะดูแลผลประโยชน์ของ สหศรีชัย เพียงคนเดียว หรือจะดูแล ผลประโยชน์ของชาวสวนยางอีกหลายล้านคน เออ ไม่ทราบว่า สหศรีชัย เนี่ย เป็นใครกันแน่ ใครก็ได้ช่วยเฉลยให้ผมรู้ด้วย ผมมันโง่ที่ไม่รู้จักเขา
เรื่องยางพารา เรื่องข้าว ที่เป็นผลผลิตหลักของไทย เห็นรัฐ นักวิชาการ เอกชน พูด พูด พูด เรื่องการแปรรูปผลผลิต มานานหลายปีล่ะ แต่การผลักดันและส่งเสริมจากภาครัฐ กลับไม่เห็นเป็นชิ้นเป็นอันทั้งที่ในแต่ละปี รัฐใช้เงินอุดหนุนพืชเศรษฐกิจ 2 อย่างนี้เป็นเงินนับแสนล้าน เอาแค่ตัวเลขที่ รบ.ยิ่งเละใช้ในการจำนำยางดิบก็หลายหมื่นล้าน รัฐบาลนี้ไม่รู้อนุมัติเงินไปอีกเท่าไหร่แล้ว ตัวเลขนี้น่าจะมากกว่าตอนที่เครือปูนซิเมนต์ร่วมทุนกับกลุ่มมิชลีนผลิตยางรถยนต์เพื่อเป็นฐานส่งออก+ป้อนให้โรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศ ซะอีก ไม่รู้เมื่อไหร่ปัญหาที่ต้องเที่ยวง้อขายข้าว ขายยาง จะหมดไปสักที
มันเป็นซะอย่างนี้นี่เอง นี่ยิ่งตอกย้ำว่าจะรอให้รัฐบาลที่มาจากฝ่ายการเมืองทำคงไม่ได้ผล ในขณะที่ผู้นำรัฐบาลนี้มีอำนาจพิเศษน่าจะทำได้สำเร็จ คงต้องช่วยกันยุให้รีบทำเร็วๆ สงสารชาวสวนยางหลายล้านคน ว่าแต่ว่า สหศรีชัย เป็นใครครับ ผมก็โง่ที่ไม่รู้จักเหมือนกัน
เป็นอย่างที่คุณ Bayonet พูดจริงๆครับ ผลผลิตทางการเกษตรหลายๆตัวเราผลิตได้ดีมาก แต่ถึงเวลาที่จะต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้มันเรากลับทำไม่ได้ จากข่าวที่ผมยกมาผมก็ไม่ทราบว่า ผลงานวิจัยที่ว่านี้เป็นนวัตกรรมใหม่หรือไม่ ถ้าเป็นเราน่าจะจดสิทธิบัตร แล้วให้นักลงทุนสร้างโรงงานผลิตมาสเตอร์แบทซ์ หรือหัวเชื้อ ส่งขายเป็นสินค้าออกได้อีกด้วย เคยมีผู้ให้ข้อมูลว่า การใช้ยางพารามาผสมทำถนนต้นทุนจะแพงขึ้น แต่จากข้อมูลพบว่า ถนนที่ใช้ยางพาราผสมยางมะตอย จะมีอายุยืนยาวกว่าทำให้มีความคุ้มค่ามากกว่า(อ้างอิง http://www.doh.go.th:88/hwyorg41500/attachments/article/37/pararoad.pdf หน้า 17) และในขณะเดียวกันยางมะตอยบางส่วนที่ใช้ในประเทศเราต้องนำเข้ามา ถ้ารัฐบาลเลือกทางเลือกนี้ นอกจากลดการนำเข้าแล้วยังเพิ่มสินค้าส่งออกได้อีกทาง
สงสัยเรื่องยาง กับ เรื่องข้าว คงต้องออกเป็นกฏหมายพิเศษ กำหนดให้กันภาษีส่วนหนึ่งของมูลค่าส่งออก 2 อย่างนี้ มาเป็นงบวิจัย ทำแบบเดียวกับที่กันภาษีน้ำเมา บุหรี่ ส่วนหนึ่งมาให้ สสส. และกองทุนสุขภาพ ทีนี้ล่ะจะได้ไม่มีปัญหาที่แต่ละปีได้แค่เศษเงินเจียดจาก สกว. ลำพังจ่ายค่าน้ำค่าไฟเงินเดือนงบก็หมดล่ะ โอนสถาบันวิจัยพันธุ์ข้าว แปรรูปผลผลิตข้าว และวิจัยแปรรูปยางพารา จาก ก.เกษตรฯ มาขึ้นกับสำนักนายกฯ ให้นายกเป็นประธานคณะกรรมการผลักดันการวิจัยให้เป็นเรื่องเป็นราว ให้สมกับที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่ทำรายได้ของประเทศอย่างจริงจังสักที ที่ผ่านมาเราใช้งบไปกับ โครงการรับจำนำ ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนตรงไหนเลย
วิธีนี้ก็น่าจะดี เอาที่สถาบันวิจัยยางก่อนได้เลย ตอนนี้ผู้อำนวยการก็นามสกุลคุ้นๆ น่าจะคุยกันได้ง่าย เห็นด้วยครับเวลาเกิดปัญหากับพืชผลการเกษตร เรามักจะแก้ปัญหากันด้วยเงิน ซึ่งทุ่มลงไปมากมายมหาศาลแต่สักพักปัญหานั้นก็กลับมาอีก แล้วก็ใช้เงินอีก ดูเหมือนว่าทั้งเกษตรกรและทั้งหน่วยงานรัฐจะคิดแก้ปัญหาด้วยการใช้เงินเท่านั้น ในที่สุดเงินก็หมดปัญหาก็ยังอยู่ ที่จริงชาวสวนยางน่าจะก่อม็อบเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาในเรื่องแบบในข่าวนี้บ้าง ไหนๆก็มีพลังเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินได้ ก็น่าจะเรียกร้องให้รัฐบาลทำให้เมืองไทยเป็นผู้ใช้ยางเสียเองได้เหมือนกัน
บริษัทร่วมทุนยางกล่อม7ประเทศครองตลาดยาง72.2%ของโลกสร้างอำนาจต่อรองราคามั่นใจมี.ค.ราคายางกระเตื้องแน่ http://www.posttoday.com/ธุรกิจ-ตลาด/เศรษฐกิจภาครัฐ/347270/บริษัทร่วมทุนยางสร้างฐานตลาดต่อรองราคา ไม่รู้ว่าจะได้ผลอย่างไรบ้าง
ได้ยินว่าเตียงยางพาราเป็นสินค้าที่ชาวต่างชาติชอบมาก ไม่รู้ว่ามีการส่งเสริมกันบ้างหรือเปล่า เรื่องพวกนี้ดูเหมือนว่าไม่ใช่งานง่ายๆ ต้องอาศัยการร่วมมือกันของหลายฝ่าย ทั้งผู้ผลิต ฝ่ายวิจัย และการส่งเสริมจากภาครัฐ หวังว่าวิกฤติราคายางครั้งนี้จะช่วยเร่งให้การต่อยอดผลิตภัณฑ์จากยางพาราประสบความสำเร็จเสียที
ข่าวต้นกระทู้ คนให้ข่าวนามสกุลคุ้นๆ เป็นอะไรกับประธานสภาฯ รัฐบาลนี้ครับ มีข่าวเก่าให้อ่านครับ http://www.komchadluek.net/detail/20150112/199305.html แปรรูปยางพาราสร้างลู่-ลานกรีฑา ฤา..เพียงแค่รับทราบและเห็นชอบ! : โดยดลมนัส กาเจ