ผมว่าสังคมไทยที่สับสนวุ่ยวายอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะมีคนส่วนหนึ่งที่ชอบคิดอะไรแบบง่ายๆ ซึ่งที่จริงมันควรจะเรียกว่าความคิดแบบ"มักง่าย"และความคิดแบบ"มักง่าย" ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐาน หรือหลักแห่งความเป็นจริงก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อจุดประสงค์ในการบ่อนทำลายฝ่ายตรงข้าม วันนี้ได้อ่านคอลัมน์การเมืองในเดลินิวส์เรื่อง…คงเหลืออดจริงๆ โดยนามปากกา“คนเถรตรง” "......ล่าสุดเรื่องการ “ถอดถอน” พรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นความพยายามจะ “บอนไซ” หรือจัดการพรรคเพื่อไทย และปักชนักลงบนหลังอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ สกัดไม่ให้ลงสนามเลือกตั้ง เพื่อเปิดทางให้พรรคอื่นชนะการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศบ้าง เพราะถ้า “ยิ่งลักษณ์” ยังอยู่ในเกม จะกลายเป็นก้างขวางคอชิ้นโต "คนเถรตรง” ไม่ได้มีความรู้ด้านกฎหมายเลอเลิศ แค่คิดง่าย ๆ แบบตรงไปตรงมา ไม่ต้องซับซ้อนตีความให้ยุ่งยาก ก็ในเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกฉีกทิ้งไปเรียบร้อยแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ประกาศใช้ ก็ไม่มีบทบัญญัติเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ แล้ว สนช. จะเอาอำนาจตรงไหนมาถอดถอนย้อนหลัง......" อย่างนี้ผมเรียกว่ามักง่ายนะครับ ไม่ใช่แค่คิดง่ายๆ อย่างที่อ้าง เพราะ วันที่รอคอยของ "ยิ่งลักษณ์" "....ถอดถอนตามที่ "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ถอดถอนจากตำแหน่งนายกฯ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ เรื่องนี้มีประเด็นตามข้อกฎหมาย เล่าลวกๆ จะปะติด-ปะต่อไม่ถูก ฉะนั้น กลั้นใจอ่านรายละเอียดหน่อยละกัน เมื่อวาน นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาฯ ป.ป.ช. แถลงแจงแจกรายละเอียดว่า.... เมื่อ ๘ พ.ค.๕๗ ก่อน คสช.ยึดอำนาจ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดยิ่งลักษณ์ว่า มีพฤติการณ์ส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๗๘ และส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๑ (๑) กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล จึงเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๐ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๔ มาตรา ๕๘ และให้ส่งรายงาน-เอกสารพร้อมความเห็นไปยังประธานวุฒิฯ เพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๓ นั้น แต่ระหว่างจัดทำรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงส่งไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อให้ดำเนินการถอดตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ นั้น คสช.ก็เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศเมื่อ ๒๒ พ.ค.๕๗ และประกาศให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด ๒ พระมหากษัตริย์ ดังนั้น วันนี้ (๙ ต.ค.๕๗) ป.ป.ช.จึงได้ประชุมในประเด็น จะส่งเรื่องให้ สนช.ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้หรือไม่? พิจารณาแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่า.....! แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ จะสิ้นสุดไปแล้วก็ตาม แต่ คสช.มีประกาศให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ ยังมีผลใช้บังคับต่อไป อีกทั้งต่อมา มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๕๕๗ มาตรา ๖ ให้สมาชิก สนช.ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา และ สนช.มีข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๗ "กำหนดให้ สนช.มีอำนาจหน้าที่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต" ก็ซวยเลย....ยิ่งลักษณ์เอ้ย! แบบนี้เรียกว่า "จอดไม่ต้องแจว" ลูกสมุนไม่ต้องพล่านตีความ เพราะทั้งรัฐธรรมนูญชั่วคราว และทั้งข้อบังคับการประชุม สนช. "ตอกหัวตะปู" ไว้ชัด "....อย่างนี้ต้องถอด"!......"