‘คลัง’ ชงกม.พิเศษล้างหนี้ประเทศ 9 แสนลบ. คลังเตรียมเสนอออกกฎหมายพิเศษล้างหนี้จากโครงการรับจำนำข้าว กองทุนประกันสังคม รวมถึงหนี้ที่รัฐบาลต้องชดเชยความเสียหายให้กับรัฐวิสาหกิจรวมกว่า 9 แสนล้านบาท คาดจบภายในปีงบฯ 58 นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอให้ออกกฎหมายพิเศษเพื่อล้างหนี้ของประเทศกว่า 9 แสนล้านบาท โดยรวมยอดหนี้ ทั้งจากโครงการรับจำนำข้าว หนี้ที่รัฐบาลค้างจ่ายให้กองทุนประกันสังคม และหนี้ที่รัฐบาลต้องชดเชยความเสียหายให้กับรัฐวิสาหกิจต่างๆ เพื่อลดภาระงบประมาณจ่ายดอกเบี้ยในระยะยาว โดยจะผลักดันให้แล้วเสร็จทันในปีงบฯ 58 โดยสาเหตุที่ต้องออกกฎหมายเฉพาะ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการชำระหนี้ เพราะในจำนวน 9 แสนล้านบาท มีหนี้ครึ่งหนึ่งที่มีกำหนดต้องชำระภายใน 8 ปีนี้ หรือคิดเป็นปีละ 5 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันการชำระหนี้ของประเทศเป็นเงินต้นประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท และอีกประมาณ 1.5 แสนล้านบาท เป็นการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ นายสมหมาย กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลไม่ออกกฎหมายพิเศษมาบริหารหนี้ 9 แสนล้านบาท จะทำให้รัฐบาลเสียดอกเบี้ยทุกปีประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท โดยที่เงินต้นอยู่เท่าเดิม ทำให้เป็นภาระงบประมาณของประเทศมากขึ้น การออกกฎหมายนี้ไม่ง่าย แต่ทำได้ และตั้งใจจะทำให้เสร็จก่อนสิ้นภายในปีงบประมาณ 2558 แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยด้วยว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) อยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดการออกกฎหมายล้างหนี้ 9 แสนล้านบาท ว่าจะมีการระดมทุนด้วยการออกเป็นพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรออมทรัพย์แต่ละประเภทจำนวนเท่าไร ทั้งนี้ ปัจจุบัน หนี้จากโครงการรับจำนำข้าวมีประมาณ 7 แสนล้านบาท เป็นหนี้จำนำข้าวก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 5.36 หมื่นล้านบาท โครงการจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 6.15 แสนล้านบาท หนี้จากโครงการรับประกันราคาพืชผล 3.1 หมื่นล้านบาท โดยโครงการจำนำข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีข้าวที่ยังไม่ได้ขายคิดเป็นมูลค่าตามตลาดอยู่อีกประมาณ 2 แสนล้านบาท สำหรับหนี้ที่เหลืออีก 2 แสนล้านบาท เป็นหนี้ที่รัฐบาลต้องจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคม นอกจากนี้ ยังมีเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายอุดหนุนให้รัฐวิสาหกิจ เช่น การรถไฟฯ และ ขสมก. นอกจากนี้ รมว.คลัง ยังรายงานต่อรัฐบาลว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนไทยเริ่มชะลอลงอย่างชัดเจนตั้งแต่กลางปีที่แล้วและยังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอัตราการเพิ่มของหนี้อยู่ที่ประมาณ 5% จากที่เคยมีอัตราการเพิ่มถึง 18% ซึ่งก่อนหน้านี้ ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 87% ด้าน ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนที่ชะลอลงในขณะนี้ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนได้มีการใช้หนี้คืนบางส่วนแล้ว เนื่องจากมีรายได้เพียงพอจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยืนยันว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนกำลังส่งสัญญาณคลี่คลายและไม่น่ากังวลและปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ในขณะนี้ถือว่ายังไม่เพิ่มสูงมาก โดย เชื่อมั่นว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนจะ ค่อยๆ คลี่คลายลงเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเฉพาะในปีนี้ที่คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศจะมีอัตราการขยายตัวราว 3.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นชัดเจนจากปีที่แล้วที่มีการขยายตัวเพียง 0.7% http://www.smartsme.tv/breaking_detail.php?id=13024
เปลี่ยนหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาวมากกว่า น่าจะยึดทรัพย์จากตระกูลบาปมาชำระหนี้มากกว่านะ หรือไม่กล้าแม้แต่จะคิด
ก่อนจะล้างจะเช็ดหนี้เน่าตั้งเก้าแสนล้าน เอาตัวการมาถลกหนังก่อนไม่ดีกว่าเหรอครับ ยังเห็นกินดีอยู่ดี รวยพุงปลิ้นกันอยู่เกือบทุกคน