เมื่อเร็ว ๆ นี้มีประกาศ คสช. เกี่ยวกับ การใช้ ม.44 ดันผังเมืองใหม่ 3 จังหวัดอีอีซี โดยงดใช้กม.ผังเมืองเดิม ดร.โสภณ ฟังธง ม.44 จะใช้ไม่ได้ผล ต่อการพัฒนาภูมิภาคเศรษฐกิจนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) วิพากษ์คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 47/2560 เรื่อง ข้อกําหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 (https://goo.gl/v2Wiyq) ไว้ดังนี้: 1. โดยหลักแล้ว การจัดทํานโยบายและแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก แผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินในภาพรวม แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค และแผนการดําเนินงาน รวมทั้งกําหนดหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบดําเนินการในแต่ละกรณี ควรดำเนินการก่อนที่จะมีการประกาศเรื่องระเบียงเศรษฐกิจนี้ ไม่ใช่ประกาศแล้ว ค่อยมาจัดทำแผน ทำให้เกิดความลักลั่น ยิ่งต้องให้แล้วเสร็จในระยะเวลาอันรวดเร็วด้วยแล้ว เกรงจะกำหนดการใช้ที่ดินที่ผิดเพี้ยนหรือผิดพลาดจากความเป็นจริงได้ 2. แม้แต่การกำหนดจังหวัดที่เป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจ ที่แต่เดิมมีฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง แต่ต่อมาก็มีข่าวจะขยายไปผนวกเอาจังหวัดปราจีนบุรีด้วย (https://goo.gl/JYjDDp) แต่ต่อมาก็ไม่ได้ผนวกตามที่เป็นข่าว นี่ก็แสดงถึงความไม่แน่นอนของนโยบายของทางราชการ 3. ภูมิภาค EEC ครอบคลุม 3 จังหวัด คือฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ตรงบริเวณไหนก็ได้ อย่างนี้จึงเป็นการพัฒนาที่เปรอะไปหมด จะเป็นการสร้างปัญหามากกว่าจะเป็นการพัฒนาหรือไม่เพราะไม่มีการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษใด ๆ ทั้ง 3 จังหวัดนี้รวม ๆ กันแล้วมีพื้นที่ถึง 8.5 เท่าของกรุงเทพมหานคร ความมั่วจะตามมาหรือไม่ 4. โครงการนี้ทำให้แทบจะลืมโครงการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดนโดยเฉพาะชายแดนภาคตะวันออกไปแล้ว คือ จังหวัดสระแก้ว จันทบุรีและตราด ความสำคัญของโครงการนี้คงลดน้อยลงหรือล้มเลิกไปในที่สุด การพัฒนาเมืองชายแดนอื่นก็คงซาตามๆ กันไปเช่นกัน 5. การพัฒนานี้จะทำให้ความเป็นเมือง (Urbanization) ขยายตัวอย่างไรทิศผิดทางหรือไม่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งเป็นเมืองแนวราบขนาดใหญ่ (Urban Field) อยู่แล้ว ก็จะรวมตัวกับฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยองและอาจเลยเถิดไปถึงปราจีนบุรีหรือไม่ ประสิทธิภาพในการคมนาคมขนส่งในเมืองจะมีหรือไม่ 6. ฉะเชิงเทราถูกกำหนดให้เป็นเขตที่อยู่อาศัยของกรุงเทพมหานคร เป็นเรื่องที่ "ตลก" มาก เพราะในบริเวณปริมณฑล ยังมีพื้นที่ให้พัฒนาเป็นเมืองอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นบางพลี-บางบ่อ ลำลูกกา นนทบุรี นครปฐมและอื่น ๆ แต่จะ "ถ่อสังขาร" ไปอยู่แล้วไปกลับกรุงเทพมหานครถึงฉะเชิงเทรา คงทำให้สิ้นเปลืองค่าเดินทางเพิ่มขึ้น การคมนาคมขนส่งต่าง ๆ คงเติบโตไม่ทันเป็นแน่ 7. รัฐบาลจะสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่ผ่าต้องผ่านตัวเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นเสมือนเมืองที่อยู่ "นอกแถว" แสดงว่าคนวางแผนของรัฐยังมีแนวคิดอนุรักษ์แบบการพัฒนารถไฟ หรือถนนสุขุมวิทที่ "เลื้อย" ไปตามจังหวัดต่าง ๆ โดยไม่คิดที่จะเน้นเชื่อมระหว่างจุดหมาย (สุวรรณภูมิ-แหลมฉะบัง-ระยอง) การคิดตามแบบเดิมๆ แบบนี้จะล้าสมัยไปหรือไม่ 8. การวางแผนที่จะพัฒนา "นี่โน่น" แต่ให้เอกชนไปจัดหาที่ดินกันเอง ไปคิดทำกันเอง ซึ่งอาจไม่มีบูรณาการที่ดีนั้น สุดท้ายอาจจะออกมาแบบต่างคนต่างคิด ต่างสร้าง ต่างขัดแย้งกันหรือไม่ จะเป็นผลดีต่อส่วนรวมจริงหรือไม่ หรืออาจซ้ำซ้อนกันหรือไม่ 9. ขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีความจำเป็นต่อชาติมาก แต่ในแผนของ EEC คงไม่ได้เน้นการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดหรืออุตสาหกรรมหนักเลย ในขณะที่ในอนาคต อุตสาหกรรมปิโตรเคมีคงมีการขยายตัวอีกมากทั้งในทวายและเมืองท่าของประเทศอื่น ๆ ทำให้ "รูจมูกหายใจ" ของไทยยิ่งตีบตันลง แถมยังคิดจะลดขนาดของอุตสาหกรรมหนักลงไปอีก ข้อเสนอของ ดร.โสภณ ก็คือ 1. การจำกัดเขตการพัฒนา โดยจัดทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะบริเวณที่วางแผนไว้ ไม่ใช่ดำเนินการเปรอะไปทุกที่ใน 3 จังหวัดเป้าหมาย ดังนั้นการวางผังหรือ Zoning จึงพึงชัดเจน 2. รัฐบาลควรเวนคืนที่ดินขนาดใหญ่เพื่อการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายแทนที่จะให้เอกชนไปดำเนินการจัดหาเอง ซึ่งใช้เวลานาน 3. ขยายนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ย้ายชุมชนออกไปสู่รอบนอก ซึ่งปกติชาวบ้านก็ไม่ประสงค์จะอยู่ใกล้นิคมฯ แห่งนี้อยู่แล้ว หากให้ออกไปด้านนอก ชาวบ้านส่วนใหญ่ย่อมยินดีที่จะย้ายเพื่อสวัสดิภาพของตนเอง ถ้าวางผังเมืองแบบเปะปะ จะยิ่งมั่วไปใหญ่ เป็นการพิสูจน์ว่า ม.44 คงไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่แก้วสารพัดนึก ที่มา: https://goo.gl/7ymGor