ปัจจุบันจ้องยอมรับว่าปริมาณคดีมีจำนวนมาก และที่สำคัญมักจะพบปัญหาผู้ต้องหาหนีคดีไม่ยอมมาขึ้นศาล ทำให้ศาลยุติธรรมจำเป็นต้องมีมาตรการ หรือต้องแก้กฎหมายเพื่อลดปัญหาเหล่านี้ และจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม คุณอธิคม อินทุภูติ บอกว่าปริมาณคดี ของศาลยุติธรรมมีจำนวนมาก โดยในปีที่ผ่านมา คดีในศาลชั้นต้น มีจำนวนกว่า 1,404,199 คดี พิจารณาเสร็จแล้ว กว่า 1,215,734 คดี หรือ 86.58% คดีคงค้าง 188,465 คดี ส่วนศาลอุทธรณ์ มีคดี 51,201 คดี พิจารณาแล้ว 42,954 คดี หรือ 83.89% มีคดีคงค้าง 8,247 คดี และ ศาลฎีกา มีคดี 27,746 คดี พิจารณาเสร็จแล้ว 14,061 คดี หรือ 56.82% มีคดีคงค้าง 10,685 คดี ซึ่งจากสถิติดังกล่าวจะเห็นว่า ศาลได้แก้ไขปัญหาคดีคงค้างได้มากขึ้น คุณอธิคม บอกว่า โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ต้องหาและจำเลยกว่า 27,000 คน ที่ถูกปล่อยชั่วคราวแต่หลบหนี ซึ่งหากไทยมี Court Marshall หรือตำรวจศาลเหมือนเช่นต่างประเทศ อาจจะลดปัญหานี้ แต่อาจจะเป็นไปได้ยากสำหรับประเทศไทย เพราะต้องใช้งบประมาณสูงมาก ดังนั้นศาลยุติธรรม พยายามจะเสนอแก้กฎหมายในส่วนของประมวลวิธีพิจารณาความอาญาเรื่องการนับอายุความ โดยจะปรับให้ไม่มีการจำกัดอายุความแม้จำเลยจะหลบหนี ซึ่งจะพิจารณาเหมือนคดีค้ามนุษย์ ที่ไม่มีอายุความสิ้นสุด นอกจากนี้ยังได้แก้กฎหมายให้นำกำไลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM มาใช้กับผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกปล่อยชั่วคราวเพื่อป้องกันการหลบหนี และให้ติดตามตัวได้ง่ายขึ้น แต่ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ต้องหา และจำเลยด้วย แต่หากผู้ต้องหา และจำเลยไม่ยินยอมจะให้ใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาปล่อยชั่วคราว ที่อาจจะไม่ได้รับการประกันตัว นอกจากนี้ศาลยุติธรรม อยู่ระหว่างเสนอแก้ไขกฎหมายการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาและจำเลย เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน กับการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในปี 2558 มีจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำกว่า 300,000คน ซึ่งประมาณ 1 ใน 4 คน เป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
เห็นด้วยทุกประการแต่....เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ผมเชื่อว่าถ้าปฏิรูประบบยุติธรรม ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะตำรวจกะอัยการ คดีจะลดลง ผู้ต้องหาจะลดลง เพราะคนกลัวการกระทำผิดมากขึ้น อิ....อิ.....เมื่อยัดเงิน-ใช้เส้นไม่ได้ใครๆก็กลัว