ตอนนี้มีข่าวว่า น้ำจากภาคเหนืออาจท่วมกรุงเทพมหานครแบบปี 2554 อีกแล้ว ดร.โสภณ จึงขอเสนอให้สร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ แทนที่จะปล่อยทิ้งลงทะเลไปเสีย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้ให้ข้อคิดต่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนว่า รัฐบาลควรสร้างเขื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อย่างกรณีเขื่อนแม่วงก์นั้น หากมีการก่อสร้าง ก็จะสร้างสรรค์ประโยชน์หลายประการ เช่น ป้องกันน้ำท่วม แก้ปัญหาฝนแล้ง มีน้ำไว้ดับไฟป่า แก้ปัญหาชลประทาน ทำการประมงได้ ผลิตไฟฟ้าได้ แถมยังใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแบบรีสอร์ตได้อีกด้วย ในแทบทุกปี น้ำถูกปล่อยทิ้งไปโดยไร้ประโยชน์สู่อ่าวไทย ทำให้ไม่มีการกักเก็บน้ำไว้ใช้สอยในยามขาดแคลนน้ำ กลายเป็นเกิดปัญหาน้ำท่วมและฝนแล้งอย่างซ้ำซาก ที่ผ่านมา ดร.โสภณ ได้สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนเพื่อประโยชน์ของมหาชน โดยเฉพาะกรณีเขื่อนแม่วงก์ ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ถึงกว่า 80% ต้องการจะได้เขื่อน ซึ่งเป็นผลจากการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านโดยแท้ แต่พวก NGOs กลับไม่ยอมให้สร้างเขื่อน ทำให้ประชาชนเสียหาย ป่าไม้ถูกทำลายเพราะไม่มีเขื่อนคอยกันพวกตัดไม้ทำลายป่า และยังทำให้สัตว์ป่าลดน้อยลง เนื่องจากป่าไม้หดหายไปนั่นเอง การสร้างเขื่อนจึงจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งคน สัตว์ และป่าไม้ ในปี 2554 มวลน้ำมหาศาลถึง 16,000 ล้านลูกบาศก์เมตรได้มาท่วมภาคกลางและกรุงเทพมหานคร (http://bit.ly/2uw0MsO) ทั้งนี้เท่ากับต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่มีความจุน้ำ 250 ลูกบาศก์เมตรจำนวน 64 เขื่อน กระจายอยู่ทั่วบริเวณที่มีน้ำท่วมและฝนแล้งบ่อย ๆ บางบริเวณที่ไม่ใช่ป่าเขา ก็อาจขุดเป็นบ่อลึก 10-15 เมตรเพื่อกักเก็บน้ำไว้เป็นระยะๆ แทนที่จะปล่อยให้น้ำท่วมหรือไหลลงทะเล ค่าใช้จ่ายเพื่อการสร้างเขื่อนก็ไม่มาก และเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ในแต่ละพื้นที่จะเห็นด้วยเพราะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจริง ทุกวันนี้ ประชาชนใกล้กับเขื่อนแม่วงก์เสียเงินกับการสูบน้ำบาดาลมาเพียงเพื่อรดน้ำต้นไม้ เพราะไม่สามารถดื่มกินได้เนื่องจากมีแร่ธาตุผสมอยู่จำนวนมาก เสียเงินนับหมื่นบาท รัฐบาลก็ต้องจ่ายเงินชดเชยกรณีน้ำท่วมและฝนแล้งปีละนับพันล้านบาท หากมีการสร้างเขื่อน ย่อมคุ้มค่าเป็นอย่างมาก สร้างเขื่อนแม่วงก์เถอะ เพื่อประโยชน์ของสัตว์ป่า ป่าไม้และประชาชน ที่มา: http://bit.ly/2uurKVN