ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (กลาง) และกลุ่มผู้นำชาติต่างๆในพิธีเปิดตัวธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย หรือ เอไอไอบี (AIIB) เมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้วในกรุงปักกิ่ง (ภาพ รอยเตอร์ส) เอเจนซี— ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย หรือ เอไอไอบี (AIIB) ได้รับรองสมาชิกรุ่นก่อตั้ง 57 ชาติอย่างเป็นทางการแล้ว โดยที่ สวีเดน อิสราเอล แอฟริกาใต้ อาเซอร์ไบจัน ไอซ์แลนด์ โปรตุเกส และโปแลนด์ เป็นกลุ่มชาติสุดท้ายที่โดดเกาะ “ขบวนรถไฟสาย AIIB” นี้ เอไอไอบี เป็นธนาคารระหว่างประเทศที่มีฐานในเอเชีย รายแรก ที่จะเป็นอิสระจากกลุ่มสถาบันจากระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่แห่ง เบรตตันวูดส์ (Bretton Woods) ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำของชาติตะวันตก อย่าง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก เป็นต้น สำหรับประเทศที่ได้รับการรับรองเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง เอไอไอบี ได้แก่ จีน อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ซาอุดีอาระเบีย บรูไน เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน อังกฤษ ออสเตรเลีย บราซิล ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน ขณะที่ไต้หวันถูกตัดออกจากรายชื่อสมาชิกผู้ก่อตั้ง แม้ได้ยื่นเรื่องขอเข้าร่วมฯด้วยก็ตาม โฆษกกระทรวงการคลังแถลงเมื่อวานนี้(15 เม.ย.) สำหรับกลุ่มสมาชิกผู้ก่อตั้งนี้จะมีสิทธิ์อำนาจเหนือกว่ากลุ่มประเทศที่จะเข้าร่วมกลุ่มหลัง โดยจะมีสิทธิในการร่างกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆของธนาคาร นอกจากนี้ มีรายงานข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยัน ระบุว่าทางธนาคารปฏิเสธคำร้องฯของเกาหลีเหนือ ส่วนไต้หวันก็เผยว่าจะพยายามเข้าร่วมในฐานะสมาชิกทั่วไป ส่วนสองยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจโลกคือ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น นั้น ไม่ได้ ยื่นเรื่องขอเข้าร่วมฯด้วย สื่อทางการจีนรายงานว่า กลุ่มสมาชิกผู้ก่อตั้งจะเริ่มถกเถียงร่างกฎฯของเอไอไอบี ซึ่งจะมีการผ่านมติขั้นสุดท้ายและลงนามกันในการประชุมที่จะมีขึ้นในเดือนหน้า กระทรวงการคลังแห่งจีนแถลงเมื่อวานนี้(15 เม.ย.) ว่าจะมีการลงนามรับรองกฎฯต่างๆ ของธนาคารในปลายเดือนมิ.ย. และมีการตั้งแต่งประธานธนาคารคนแรก โฆษกกระทรวงการคลังยังกล่าวว่า เอไอไอบี จะเรียนรู้จากสถาบันการเงินระหว่างประเทศรายต่างๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายการดำเนินการ และสร้างประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ เอไอไอบี เป็นความริเริ่มของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง โดยเสนอการก่อตั้งเอไอไอบี เมื่อปลายปี 2556 ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แสดงความกังวลเกี่ยวกับความโปร่งใสของธนาคารฯ ธรรมาภิบาล และความขัดแย้งกับกลุ่มสถาบันที่มีอยู่ โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ที่มีฐานในกรุงมะนิลา กลุ่มวิเคราะห์ต่างมอง เอไอไอบี จะเป็นคู่แข่งที่ทรงพลังสูสีกับสถาบันการเงินขาใหญ่ อย่าง ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก ขณะที่ กรรมการผู้จัดการแห่งไอเอ็มเอฟ คริสตีน ลาการ์ด กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก “ยินดี” จับมือกับ เอไอไอบี ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา(2557) กลุ่มประเทศ 21 ประเทศ ได้ลงนามข้อตกลงการก่อตั้ง เอไอไอบี ซึ่งจะมีฐานในกรุงปักกิ่ง โดยมีภารกิจให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่โครงการโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทางธนาคารฯมีแผนอัดฉีดทุนเพิ่มอย่างรวดเร็ว จากทุนก่อตั้ง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และสิทธิลงคะแนนเสียงของสมาชิกขึ้นกับจีดีพี เป็นที่คาดกันว่า เอไอไอบี จะจัดตั้งเสร็จเรียบร้อยภายในปลายปีนี้ http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9580000043765 ปล ดูจากรายชื่อประเทศ มี อังกฤษ อิสลาเอล ฝรั่งเศส เมกากับยุ่นคงดิ้นเป็นเจ้าเข้าพอสมควร
โลกกลับทิศ 17 เมษายน 2558 ทุนของเอไอไอบีอยู่ที่ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนโต้โผใหญ่จะลงขัน 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยเอาทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่มหาศาลมาใช้ ที่เหลือลงขันโดยชาติสมาชิก การจัดตั้ง AIIB ทำให้จีนในฐานะอาเฮียใหญ่ได้ประโยชน์ มากมาย ทั้งบริหารทุนสำรองที่มีมหาศาลได้ดีขึ้น ทั้งสร้างสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับชาติต่างๆ มากขึ้น ทั้งเป็นการปูทางเงินหยวนให้มีความแข็งแกร่งขยับขึ้นมาในเวทีระดับโลก สหรัฐที่เคยทะนงตน เป็นตำรวจโลก เที่ยวชี้นิ้วให้คนอื่นเดินตาม วันนี้กำลังถูกท้าทายมากยิ่งขึ้น เห็นแล้วสาแก่ใจจริงๆ ท่านผู้ชม http://www.posttoday.com/คอลัมน์นิสต์ออนไลน์/359578/โลกกลับทิศ
ล่าสุด IMF กับ ธนาคารโลก ประกาศเป็นพันธมิตรกับ AIIB แล้ว IMF - ธนาคารโลกยืนยันพร้อมให้ความร่วมมือ AIIB ข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- ศุกร์ที่ 17 เมษายน 2558 09:35:00 น. ประธานธนาคารโลกและผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า องค์กรทั้งสองพร้อมกระชับความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) เพื่อรับมือกับอุปสรรคต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในภูมิภาค นายจิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลกกล่าวในการแถลงข่าว ก่อนการประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิระหว่าง IMF และธนาคารโลกว่า "ความต้องการด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานในโลกที่กำลังพัฒนานั้นมหาศาล และสูงมากในเอเชีย ซึ่งเราจะให้ความร่วมมือกับ AIIB อย่างใกล้ชิด" เขาเสริมว่าธนาคารโลกมีความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิคมากกว่า AIIB ในตอนนี้ และมีเหตุผลในการเตรียมโครงการความร่วมมือกับ AIIB ด้านนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการ IMF เปิดเผยว่า "การมีสถาบันที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานระดับภูมิภาค ถือเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจอย่างยิ่ง AIIB เป็นองค์การระดับภูมิภาคที่น่าชื่นชม ซึ่ง IMF วางแผนร่วมมือด้วยอย่างแน่นอน" นางลาการ์ดกล่าว ทั้งนี้ การประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิระหว่าง IMF และธนาคารโลกจะจัดขึ้นในวันที่ 17-19 เม.ย. ณ กรุงวอชิงตันดีซี โดยผู้ว่าการธนาคารกลาง รัฐมนตรีการคลัง และนักวิชาการจะหารือประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจและแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกัน สำนักข่าวซินหัวรายงาน อ่านต่อได้ที่ : http://www.ryt9.com/s/iq29/2139166