สถานการณ์ที่กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ได้รุกคืบเข้ายึดเมืองรามาดี (Ramadi) ในจังหวัดอันบาร์ของอิรักเมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่สำหรับรัฐบาลอิรักในรอบหลายเดือนแล้ว ยังก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ของปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในอิรักที่สหรัฐฯ รับบทผู้นำมาตลอดระยะเวลา 8 เดือน ขณะที่ล่าสุดนายกรัฐมนตรี ไฮเดอร์ อัล-อาบาดี ตัดสินใจหันไปพึ่งกองกำลังมุสลิมชีอะห์ที่เคยแสดงผลงานกอบกู้เมืองติกริต (Tikrit) เมื่อเดือนเมษายนให้กลับมาช่วยยึดเมืองเอกของจังหวัดอันบาร์คืนจากนักรบไอเอสอีกครั้ง เจ้าหน้าที่สหรัฐฯหลายคนเตือนว่า การที่ผู้นำอิรักมอบภารกิจกู้เมืองรามาดีให้แก่กองกำลังชีอะห์อาจนำมาซึ่งเหตุปะทะนองเลือดกับพลเมืองสุหนี่ในอันบาร์ ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ที่สุดของประเทศ และมีพรมแดนติดต่อกับซีเรีย จอร์แดน และซาอุดีอาระเบีย การที่อิรักต้องพึ่งพากลุ่มติดอาวุธชีอะห์ที่ได้รับการฝึกฝนจากอิหร่านสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของเตหะรานในสงครามกวาดล้างไอเอส รวมไปถึงความจริงที่ว่าวอชิงตันและแบกแดดไม่มีทางเลือกมากนัก เนื่องจากกองทัพอิรักเองยังอยู่ในสภาพกะปลกกะเปลี้ยเกินกว่าจะต่อกรกับไอเอสได้โดยไม่ต้องพึ่งกองกำลังท้องถิ่น เมื่อวันจันทร์ (18) กลุ่มติดอาวุธชีอะห์ราว 3,000 นายได้เดินทางไปถึงฐานทัพใกล้ๆ กับเมืองรามาดีซึ่งห่างจากแบกแดดเพียงราวๆ 100 กิโลเมตร และเป็นศูนย์กลางของชาวสุหนี่ในอิรักที่ต่อต้านการปกครองโดยผู้นำนิกายชีอะห์มานาน เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ซึ่งไม่ประสงค์ออกนามเปรียบเปรยเมืองรามาดีว่าเป็นพื้นที่อ่อนไหวไม่ต่างจาก “ถังแป้ง” ซึ่งการส่งนักรบชีอะห์เข้าไปยึดเมืองคืน “จะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุด” ไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับพลเมืองท้องถิ่นที่เป็นชาวสุหนี่ ในสหรัฐฯ เองก็ยังมีความเห็นแตกต่างเกี่ยวกับการนำกลุ่มติดอาวุธชีอะห์ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่านมาช่วยสู้รบกับพวกไอเอส “คนในรัฐบาลของเรามีบ้างที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้นักรบชีอะห์ บ้างก็ว่าจะยิ่งกระตุ้นความขัดแย้งระหว่างมุสลิม 2 นิกายในอิรัก แต่บางคนก็คิดว่าไม่จริงหรอก” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อีกคนหนึ่ง กล่าว ประเด็นที่สร้างความกังวลเป็นพิเศษก็คือ กองกำลังชีอะห์ที่ช่วยอิรักยึดคืนเมืองติกริตเมื่อเดือนที่แล้วได้ฉวยโอกาสวางเพลิง ทำลายทรัพย์สิน และปล้นชิงชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมสุหนี่ เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของอเมริกาคนหนึ่งยอมรับว่า การส่งกองกำลังชีอะห์เข้าไปในจังหวัดอันบาร์ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของมุสลิมสุหนี่จะยิ่งโหมกระพือความเกลียดชัง แต่นักวิเคราะห์อธิบายว่า รัฐบาลอิรักจำเป็นต้องเลือกวิธีนี้ เพราะไม่มีกองกำลังสุหนี่มากพอที่จะโจมตีเอาเมืองกลับคืนมาได้ ความพ่ายแพ้ของกองทัพอิรักที่เมืองรามาดีเกิดขึ้นเพียง 1 เดือน หลังจาก ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้เชื้อเชิญนายกฯ อาบาดี ไปเป็นแขกของวอชิงตัน และกล่าวสนับสนุนให้ อาบาดี ประสานรอยร้าวระหว่างพลเมือง 2 นิกาย และสร้างกองทัพที่เข็มแข็งขึ้นมาต่อกรกับพวกไอเอส เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนหนึ่งเอ่ยถึงความจำเป็นที่อิรักจะต้องใช้กองกำลังชีอะห์ไปสู้กับไอเอส โดยระบุว่า “เราไม่เคยห้ามเรื่องนี้... เพราะถึงอย่างไรคุณก็ต้องสู้ด้วยกองทัพที่คุณมี และนี่ก็คือกองทัพที่พวกเขามีอยู่” ส่วนเจ้าหน้าที่อีกคนชี้ว่า วอชิงตันเต็มใจสนับสนุน “กองกำลังทุกฝ่าย” ที่พร้อมจะจับอาวุธต่อต้านไอเอส กระนั้นก็ดี วอชิงตันอาจต้องทบทวนนโยบายเสียใหม่ หากว่านักรบชีอะห์เหล่านี้ฉวยโอกาสแก้แค้นพลเมืองสุหนี่ในเมืองที่พวกเขายึดคืนมาได้ เหมือนเช่นที่เคยเกิดกับเมืองติกริต จอห์น แม็คเคน และ ลินด์เซย์ เกรแฮม สองวุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการวิจารณ์นโยบายต่างประเทศของโอบามา ชี้ว่าการสูญเสียรามาดีให้แก่ไอเอส “เป็นเครื่องเตือนความจำที่น่าเศร้า” เกี่ยวกับแผนโจมตีทางอากาศที่ไม่เด็ดขาด และยุทธศาสตร์ที่ล้มเหลวของประธานาธิบดี ทั้งยังเตือนว่าการส่งกองกำลังชีอะห์ที่มีอิหร่านหนุนหลังเข้าไปช่วยยึดเมืองรามาดีจะยิ่งสร้างความเสียหายในเชิงยุทธศาสตร์มากกว่าเป็นผลดี และอาจก่อความคลางแคลงใจในหมู่ชาวอิรักที่นับถือนิกายสุหนี่ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ออกคำสั่งโจมตีทางอากาศต่อฐานที่มั่นไอเอสในอิรักตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงเวลานี้ แต่ยืนยันว่าจะไม่ส่งทหารอเมริกันกลับเข้าไปต่อสู้ในสมรภูมิอิรักอีก เพราะได้ให้สัญญาไว้ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศใหม่ๆ ว่าจะปิดฉากสงครามของอเมริกาในอิรักลงให้ได้ บรูซ รีเดล อดีตผู้เชี่ยวชาญของซีไอเอซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่กับสถาบันบรุกกิงส์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ยอมรับว่า แม้ปัญหาที่ แม็คเคน และ เกรแฮม เตือนจะมีความเป็นไปได้สูง ทว่าอิรักไม่มีทางเลือกอื่น “จุดบอดทางยุทธศาสตร์ของพันธมิตรอเมริกาตั้งแต่ปีที่แล้ว คือกองกำลังภาคพื้นดินที่อ่อนแอเกินไป และในเมื่อสหรัฐฯและชาติอาหรับล้วนมีข้อจำกัดในการช่วยเหลือ ตัวเลือกเดียวที่รัฐบาลอิรักมีอยู่ก็คือ กลุ่มติดอาวุธชีอะห์ที่เป็นสมุนของอิหร่าน” “แน่นอนว่ามันอาจจะทำให้มุสลิมสุหนี่ทั้งในอิรักและซาอุดีอาระเบียไม่พอใจ แต่แบกแดดไม่มีทางเลือกอื่น” ปล ตกลงใครคือต้นเหตุ ของสถานการณ์ ปัจจุบัน ทั้งหมด ?
มันต้องมีคนเข้าร่วมกับไอเอสเยอะมากนะครับ ไม่งั้นคงบุกยึดที่นั่นที่นี่ไม่ได้หรอก ถ้าขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ อะไรจะเกิดขึ้น
ข่าวพวกนี้ ถ้าไปอยู่ตามเพจวิจารณ์ศาสนา ก็จะมีวาทกรรมเชิงประชดเพียบ ศาสนาแห่งสันติ ... บางคำก็แรงเกิ๊น โพสต์ในนี้ไม่ดี
ผมล่ะงงกับนโยบายของ โอบามา ที่ไปวานให้โจร B ไปไล่โจร A ออกไปจากเมือง แต่ไม่รู้ว่ามันได้คิดต่อหรือเปล่าว่าหลังจากนั้นจะใช้ให้ใครไปไล่โจร B ออกล่ะทีนี้ ต่อให้ไล่ออกไปได้หมดทั้งเมืองก็เหลือแต่ซากศพและซากสิ่งก่อสร้างล่ะ
สันดาน อเมริกา แผนยุให้เพื่อนรบกันกับเพื่อนบ้าน แล้วตัวเองค่อยเข้าไปช่วยตอนที่เพื่อนใกล้จะตายอยู่แล้ว แถมแอบขายอาวุธให้ฝ่ายตรงข้ามด้วย ดูจากงบประมาณ ของอเมริกา คงไม่มีงบเยียวยาให้ผู้เสียหายมากพอกับประชากรที่เหลืออยู่ (หมายความว่า ยิ่งเหลือน้อย ยิ่งดี) --- โหดจัง
ถ้าอิรักจะสู้กับไอเอสได้ยังไงก็ต้องใช้กองกำลังชีอะห์ครับไม่มีทางเลือกอื่น จะหวังพึ่งอเมริกาก็คงได้แต่ทิ้งระเบิดให้เปลืองเล่นไปเรื่อยๆจะให้เอาทหารภาคพื้นดินเข้าไปลุยก็ไม่กล้า พวกมุสลิมสุหนี่ที่เที่ยวออกความเห็นแบบปากดีอย่างพวกซาอุก็ขี้ขลาดเกิดไปไม่มีทางจะช่วยไปอะไรได้