หมายเหตุ-พ.ต.ท.ปริญญา เจริญบัณฑิต นักศึกษาปริญญาเอก สาขาการวางผังภาคและเมือง มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล เกาหลีใต้ ผู้เขียนรายงานพิเศษชิ้นนี้ นำเสนอเรื่องราวผ่านการเรียนรู้และศึกษาข้อมูลจากการติดตามข่าวเมอร์ส ผ่านทางสื่อโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่เกาหลีอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงเกาะติดกระแสต่างๆ ผ่านทางกรุ๊ปแชท เพื่อสรุปเป็นบทเรียนอันน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการดำเนินมาตรการเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของเมอร์สในประเทศไทย (ถ้าหากจะเกิดขึ้นในอนาคต) ที่เกาหลีใต้ ผู้ป่วยแทบจะทั้งหมดติดเชื้อจากสองทางคือ 1. โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วย (ส่วนใหญ่มาจากเพียงแค่ 2 โรงพยาบาลเองด้วย) 2.ใกล้ชิดและสัมผัสกับญาติที่ป่วย โรงพยาบาลใหญ่ๆ กลับกลายเป็นแหล่งติดเชื้อ เพราะโดยธรรมชาติของคนป่วยหนัก มักจะมุ่งหน้าไปขอรับการรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ในเขตบ้านของเขา กว่ารัฐบาลจะตรวจพบ ยืนยันผล และมีมาตรการอะไรออกมา ก็ช้าเกินไปทั้งๆ ที่โอกาสจะจำกัดวงของการติดต่อสำคัญมากในช่วงแรก คือจากผู้ป่วยคนแรก สู่ผู้ป่วยรุ่นสอง และสาม เพราะเมื่อเข้าถึงรุ่นที่สามก็เริ่มคุมยากแล้ว (ปัจจุบันเกาหลีเริ่มเจอรุ่นสี่ ซึ่งได้ยืนยันแล้ว 1 คน แต่ยังไม่ยืนยันอีกจำนวนหนึ่ง) ใครต้องระวัง? อันดับหนึ่งคือ บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยที่เกาหลี ไม่ว่าจะเป็น หมอ พยาบาล คนเข็นผู้ป่วย รวมไปถึงคนขับรถพยาบาลต่างก็กลายเป็นผู้ติดเชื้อกันเต็มไปหมด อันดับสองคือ คนป่วยในโรงพยาบาล เช่น คนนอนเตียงข้างๆ คนใช้ห้องต่อจากคนป่วยเมอร์ส (ผู้ป่วยคนหนึ่งเข้าไปใช้ห้องเอกซเรย์เดียวกับผู้ป่วยเมอร์ส ที่ใช้ห้องนี้ก่อนหน้าเขาหนึ่งชั่วโมง) อันดับสามคือ ญาติผู้ป่วย หรือคนไปเยี่ยมคนป่วยในโรงพยาบาล มีเด็กคนหนึ่งติดจากแม่ที่ป่วย ใครน่าเป็นห่วง? เฉพาะที่เกาหลี มีผู้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน จำนวน 24 คน จากผู้ติดเชื้อ 166 คน คิดเป็น 14.5% หายดีออกจากโรงพยาบาล 30 คน ที่เหลือ 112 คน ในจำนวนนี้ 16 คน ยังต้องดูอาการใกล้ชิด และแยกกักกันโรคทั้งหมด 5,930 คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เป็นผู้สูงอายุและมีอาการป่วยอยู่แล้ว เช่น เป็นโรคไต โรคปอด หรือโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ส่วนคนที่แข็งแรงดี มีอัตราการเสียชีวิตต่ำมาก ที่เกาหลี พบแค่ผู้สูงอายุหนึ่งคนที่เสียชีวิต โดยไม่มีอาการป่วยมาก่อน มีหมออายุสามสิบกว่า ป่วยโคม่าอยู่แล้ว ส่วนคนท้อง เด็กวัยรุ่น มีการพบว่าติดเชื้อบ้างแล้ว แต่อาการไม่รุนแรง บางคนติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการอะไรเลยก็มี โรงพยาบาลควรทำอะไร? เชื้อเมอร์ส ที่เกาหลี ได้รับการยืนยันหลายครั้งว่า ยังไม่กลายพันธุ์เป็นระดับที่ติดต่อทางอากาศ (Airborne) จะติดเชื้อได้ ต้องสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยที่ผู้ป่วยจำนวนมากติดจากโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีผู้ติดเชื้อมาตรวจรักษา สาเหตุที่สันนิษฐานคือ มีการพบอาร์เอ็นเอของไวรัส ที่ฟิลเตอร์ระบบปรับอากาศภายในโรงพยาบาล และได้มีการทดสอบใช้สเปรย์น้ำพ่นตามทางเดินโรงพยาบาล ให้เหมือนการไอจามของคนไข้ ระบบอากาศในโรงพยาบาลที่เป็นแหล่งกระจายเชื้อกลับดูดเข้าไปในห้องผู้ป่วยได้ แบบกระจายละอองสเปรย์นั่นได้ทั้งห้อง คาดหมายได้ว่า อาจเป็นผู้ป่วยในระยะแสดงอาการไอหรือจามบริเวณช่องรับลมกลับ (Return Air) แล้วดูดไปปล่อยจนทั่วระบบปรับอากาศในห้องที่ผู้ป่วยเมอร์สพักอยู่ ซึ่งโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยเมอร์สต้องพึงระวังระบบอากาศภายในอาคารอย่างยิ่ง รัฐต้องทำอย่างไร จากฐานข้อมูลโฟลว์ชาร์ตของผู้ป่วย สำหรับการติดตามโรค เกาหลีใช้วิธีไล่หมายเลขผู้ป่วยเลยว่า เป็นคนป่วยหมายเลขอะไร เช่น หมายเลข 14 สัมผัสหมายเลข 1 ที่ไหน หมายเลข 14 ยังไปเจอกับใครอีกในช่วงเวลาที่แสดงอาการ (เห็นทางประเทศไทย เริ่มดำเนินการแบบนี้แล้ว) ขณะเดียวกน เกาหลีก็เช็กภาพจากกล้องซีซีทีวี เพื่อยืนยันข้อมูลอีกทางหนึ่งด้วย การบริหารจัดการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดมาตรการหนึ่งของรัฐบาลเกาหลี ที่น่าสนใจคือ รัฐบาลให้เบี้ยเลี้ยง คนที่ต้องถูกกักกันโรค เพื่อจูงใจให้เขาไม่ฝ่าฝืน ออกมาเดินข้างนอก ส่วนตัวเห็นว่า รัฐบาลไทยควรเร่งทำกระบวนการนี้โดยเร็ว เช่น ถ้าเป็นลูกจ้างเอกชน ให้ลางานแบบได้เงินค่าจ้าง แล้วให้สรรพากรไปลดภาษีให้ในส่วนนี้ช่วงปลายปี ถ้าเป็นข้าราชการ ก็ให้ลาแบบไม่นับวันลา ถ้าเป็นอาชีพอิสระ ให้รัฐจ่ายเงินสดเป็นเบี้ยเลี้ยงรายวันเลยทันที นี่คือความคิดที่ว่า "จ้าง" ให้เขาอยู่นิ่งๆ ที่บ้าน ลดการสัมผัสคน เฝ้าระวังอาการ เพื่อควบคุมการระบาด ต้นทุนน่าจะถูกกว่ามากักคนที่สัมผัสผู้ป่วยในที่สาธารณะหลายเท่า และที่สำคัญก็คือ รัฐบาล และโรงพยาบาลห้ามปิดบังข้อมูลเด็ดขาด!!! สัปดาห์แรก รัฐบาลเกาหลีไม่ยอมเปิดเผยชื่อโรงพยาบาลที่เป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อ ทำให้ประชาชนยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม คือไปเยี่ยมคนป่วยที่โรงพยาบาลตามปกติ จนติดเชื้อกันกว่า 80 คนจากโรงพยาบาลซัมซุง เมดิคอล เซ็นเตอร์เพียงแห่งเดียว ซ้ำร้ายโรงพยาบาลและบุคลากรในโรงพยาบาลยังปิดบังอาการป่วยของตัวเองอีก เช่น มีหมอ ที่รักษาคนไข้ป่วยเป็น เมอร์ส แต่ไม่บอกใคร มีลูกจ้างเข็นรถผู้ป่วย ติดเชื้อเมอร์ส ก็ยังทำงานเป็นปกติในวันที่แสดงอาการ การเรียกประชุม การกำชับสถานการณ์ของคนทำงาน (ทุกระดับ) ในโรงพยาบาล ว่าไม่ให้เพิกเฉยกับเรื่องพวกนี้ ส่วนข้อมูลจำพวก ผู้ป่วยที่แสดงอาการ เดินทางไปที่ไหนบ้าง? สัมผัสใครบ้าง? รัฐต้องรีบประกาศออกมาให้ชัดเจน เพื่อให้คนที่อยู่ในข่ายความเสี่ยงรู้ตัว ศูนย์ข้อมูล และเว็บไซต์ที่อัพเดท แบบเรียลไทม์ แม้รัฐบาลเกาหลีจะตั้งทีมงานพิเศษเพื่อการจัดการกับไวรัส เมอร์ส แต่การแถลงข่าวทุกวัน เวลา 11.00 น. กลับไม่ทันท่วงทีกับข่าวลือทางโซเชียลมีเดีย ทางที่ดีขอเสนอแนะว่า ควรทำข้อมูลแบบ เรียลไทม์ บนเว็บไซต์เพื่อป้องกันข่าวลือต่างๆ และควรทำแผนที่อย่างละเอียด ของเขตการระบาดไม่ใช่พบแค่โรงพยาบาลเดียว แต่ระบายสีทั้งจังหวัด มีสายฮอตไลน์ หน่วยเคลื่อนที่เร็ว มีเบอร์โทรศัทพ์ที่สามารถจดจำได้ง่ายๆ ให้โทรหาหากผู้ที่สงสัยว่ามีอาการ (เกาหลีใช้เบอร์ 109) และต้องการติดต่อกับโรงพยาบาล ก็จะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมอุปกรณ์ครบชุดไปรับเขาถึงบ้าน เพราะที่เกาหลี มีกรณีคนที่ถูกกักกันโรคมีอาการป่วย แต่ดันนั่งแท็กซี่ไปโรงพยาบาลเอง สุดท้ายแท็กซี่ก็ต้องถูกกักกันโรคตามไปด้วยอีก ขอความร่วมมือค่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อส่งข่าวสาร ที่เกาหลี ในกรณีฉุกเฉินต่างๆ โทรศัพท์มือถือทุกเครื่อง จะได้รับการแจ้งเตือนความละเอียดในระดับเซลสัญญาณกันเลยว่าเขตนี้ให้ระวังน้ำท่วม เขตนั้นให้ระวังฝุ่นควัน เช่นเดียวกับเรื่องเมอร์ส มีข้อความอีเมอร์เจนซี่ ขึ้นที่มือถือเป็นระยะๆ เพื่อย้ำเตือนถึงการปฏิบัติตัว เช่น หลีกเลี่ยงสถานที่ชุมนุมชน ใส่หน้ากาก ฯลฯ ซึ่งการขอความร่วมมือค่ายมือถือ มีค่าใช้จ่ายน้อยแต่เข้าถึงประชาชนได้จำนวนมาก จำเป็นต้องมีข้อมูลภาษาอังกฤษ เพราะจากตัวอย่างชาวต่างชาติที่อาศัยในเกาหลี ที่โวยวายออกมาว่า ไม่มีการให้ข้อมูลที่อัพเดท เมื่อพวกเขาเข้าไปหาข้อมูลในเว็บไซต์รัฐบาล ปรากฏว่า เป็นข้อมูลที่ล้าหลังไป 5-6 วันตลอด สำหรับประเทศไทย ที่มีคนต่างชาติอาศัยอยู่มากมาย และพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวด้วยแล้ว ข้อมูลภาษาอังกฤษ หรือภาษาหลักอื่นๆ ถือว่าจำเป็นอย่างยิ่ง รัฐต้องมีบทลงโทษ รัฐบาลต้องมีบทลงโทษ สำหรับผู้ที่ถูกสั่งกักกันโรคแล้วฝ่าฝืนอย่างเฉียบขาด ตัวอย่างจากเกาหลีก็คือ กรณีมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่า คนที่ถูกสั่งให้ได้รับการกักกันโรคแอบหนีออกไปตีกอล์ฟบ้าง หนีไปขึ้นรถไฟเที่ยวบ้าง ล่าสุดแอบไปเที่ยวเกาะเชจู จนเป็นความวุ่นวายว่า ต้องมีผู้ถูกกักกันโรคเพิ่มขึ้นอีกมากมายสุดท้าย กลายเป็นความเดือดดาลของประชาชนว่าทำไมรัฐไม่เฉียบขาดกับเรื่องนี้เลย ภาครัฐ ต้องไม่ทะเลาะกันเอง ที่เกาหลี ผู้ว่ากรุงโซลที่อยู่พรรคฝ่ายค้านกับรัฐบาลขัดแย้งกันเรื่องการทำงาน แย่งซีนกัน โทษกันไปมาเพื่อหวังโจมตีพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม กลายเป็นภาพน้ำเน่าที่คนเอือมระอา ซ้ำร้าย นักการเมืองทั้งสองฝ่ายยังทำตัวปัญญาอ่อน เช่น ไปนั่งคุยกับคนป่วย โชว์ล้างมือ ฯลฯ (เหมือนไข้หวัดนกระบาดแล้วไปนั่งกินไก่โชว์) หวังว่าคงไม่มีให้เห็นที่เมืองไทยอีกแล้ว จำเป็นหรือไม่ ที่ต้องให้หลักประกันกับนักท่องเที่ยว ถ้านักท่องเที่ยวมาเที่ยวเกาหลี แล้วติดเชื้อเมอร์ส จะได้รับเงินชดเชย 20 ล้านวอน ถ้าเสียชีวิตเพราะเมอร์สรับไปล้านวอน เชื่อว่านี่คือมาตรการเพิ่มความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว แต่โดยเห็นว่า กรณีนี้ ไร้สาระมาก เพราะคงไม่มีใครอยากจะเอาชีวิตมาทิ้งเพื่อแลกกับเงินประกัน เอาเวลาไปป้องกันการระบาด กับประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ดีก่อนดีกว่า สุดท้ายนี้ ขอให้ประเทศไทยได้เรียนรู้จากการบริหารจัดการ และความผิดพลาดของเกาหลีใต้ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถนำพาประเทศผ่านพ้นสถานการณ์เมอร์สไปได้อย่างราบรื่น http://www.komchadluek.net/detail/20150620/208350.html .............................................................................................................. อาจดูยาวหน่อยแต่อ่านแล้วเข้าใจง่ายดีครับ เป็นข้อมูลไว้รับมือกับ เมอร์ส ที่เริ่มพบในบ้านเรา ขอบคุณการแนะนำข้อมูลนี้ของ คุณหนูอ้อย ด้วยครับ ปัจจุบันในไทย รับผู้ป่วย เมอร์สเข้ารับการรักษาที่เดียวครับ สถาบันบำราศนราดูร
แต่ตอนตั้งต้นที่จะพบชาวโอมานคนแรกที่ตรวจพบในไทยนั้น สธ.ไทยพบที่รพ.แพงที่สุดในไทย(พูดชื่อไปอาจโดนฟ้องหรือเปล่า) อาการคือ แกมีไข้ก่อนที่จะเข้ารักษาโรคหัวใจตามหมอนัด โชคดีที่เขาไปที่รพ.นั้นก่อนที่จะไปเที่ยวที่อื่นๆ และขณะที่มีการไหวตัวในเมืองไทยถึงขนาดออกเป็นกม.แล้วให้เมอร์สเป็นโรคติดต่ออันตราย การควบคุมโรคจึงอยู่ในวงแคบตั้งแต่ระยะต้น คือติดตามพวกที่เดินทางเครื่องบินร่วมกันกับแกรวมทั้งลูกเรือด้วย การติดเชื้อที่ปรากฏในเกาหลีมุ่งประเด็นไปที่ติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งมากกว่าไอ - จามรดกัน ดังนั้นจนถึงกลางเดือนหน้านี้ก็งดเว้นไปรพ.ดังกล่าวหากไม่มีความจำเป็น ส่วนบำราศนราดูรพวกเราคงไม่มีใครอยากย่างกรายไปอยู่แล้วล่ะ ขอบคุณท่าน Anduril มากจริงๆค่ะที่ช่วยลงข่าว ในเว็บเราหากตื่นตัวกับเรื่องนี้จริงๆจังๆก็จะเป็นแรงเสริมในการเอาชนะการระบาดได้ โรคนี้ติดต่อง่ายกว่าอีโบลานะคะ แถมตรวจพบยาก และยังไม่มียาแก้ต้องอาศัยการประคับประคองอย่างเดียว อย่าประมาท