นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ เอเอฟพี – พลเมืองสหภาพยุโรป (อียู) ส่วนใหญ่ที่พำนักอยู่ในอังกฤษจะไม่มีสิทธิ์ร่วมลงประชามติว่าด้วยการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป รัฐบาลกรุงลอนดอนแถลงวันนี้ (25 พ.ค.) ร่างกฎหมายขอจัดทำประชามติจะถูกเสนอต่อรัฐสภาอังกฤษในวันพฤหัสบดีนี้(28) ตามแผนของนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ซึ่งหวังเพิ่มแรงกดดันทางการทูตเพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปในกลุ่มอียู 28 ประเทศ สำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า ประชามติครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้เฉพาะผู้ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งได้แก่ พลเมืองอังกฤษที่อายุ 18 ปีขึ้นไป รวมถึงพลเมืองไอร์แลนด์และประเทศเครือจักรภพที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ นั่นหมายความว่า พลเมืองอียูส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเมืองผู้ดีจะไม่มีสิทธิ์โหวต ยกเว้นเพียงพลเมืองของมอลตาและไซปรัสซึ่งอยู่ในกลุ่ม 53 ประเทศเครือจักรภพ “นี่คือการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่สำหรับประเทศเรา และจะเป็นการกำหนดอนาคตของสหราชอาณาจักร... ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นว่า เฉพาะพลเมืองอังกฤษ ไอริช และประเทศในเครือจักรภพเท่านั้นที่มีสิทธิ์ตัดสินใจ” ถ้อยแถลงจากสำนักนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระบุ เลียม ฟ็อกซ์ ส.ส.พรรคคอนเซอร์เวทีฟซึ่งประกาศตนเป็นพวกลังเลสงสัยในสหภาพยุโรป (eurosceptic) กล่าวชื่นชมการตัดสินใจของ คาเมรอน ว่า “นี่คือการตอบสนองที่ถูกต้องเหมาะสมจากรัฐบาล... ถ้าอนุญาตให้พลเมืองอียูทั้งหมดลงประชามติด้วย จะเป็นการกลบเสียงที่แท้จริงของชาวอังกฤษอย่างไม่น่าจะเป็น” พลเมืองกลุ่มประเทศเครือจักรภพที่อาศัยอยู่ในยิบรอลตาร์ และชาวอังกฤษที่ย้ายไปอาศัยอยู่ต่างแดนไม่เกิน 15 ปี ก็มีสิทธิ์ลงประชามติได้ คาเมรอน ให้สัญญาว่าจะปฏิรูปประเทศในหลายด้าน เช่น การรับผู้อพยพเข้าเมือง สวัสดิการสังคม และอำนาจที่จะปฏิเสธการบูรณาการกับสหภาพยุโรปในระดับสูงขึ้นไป จนกว่าจะได้ทำประชามติหยั่งเสียงประชาชนว่าต้องการให้อังกฤษร่วมเป็นสมาชิกอียูต่อไปหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2016 ปล ออกไป ออกไป ผิดๆ โทษๆ