ภาพถ่ายดาวเทียมเผยความคืบหน้าของงานถมทะเลและการก่อสร้างๆต่าง บริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้ ของจีน เอเจนซีส์ - ผู้บัญชาการกองทัพอเมริกันภาคพื้นแปซิฟิกแถลงที่รัฐสภาสหรัฐฯ ในวันพุธ (15 เม.ย.) ว่า ในที่สุดแล้วจีนอาจติดตั้งระบบเรดาร์และขีปนาวุธบนหมู่เกาะจำลองซึ่งกำลังสร้างขึ้นในทะเลจีนใต้ และประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) เหนือดินแดนที่เป็นข้อพิพาทกับเพื่อนบ้าน พร้อมกันนี้เขาชี้ว่า รัสเซียมีเคลื่อนไหวทหารในเอเชีย-แปซิฟิกเพิ่มขึ้นผิดหูผิดตาใกล้ๆ ระดับเดียวกับช่วงสงครามเย็น ทั้งนี้สอดคล้องกับที่ญี่ปุ่นก็รายงานว่า เครื่องบินไอพ่นแดนอาทิตย์อุทัยต้องรีบทะยานขึ้นสกัดอากาศยานจากจีนและรัสเซียเพิ่มขึ้นถึงระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบระยะเวลา 3 ทศวรรษ พล.ร.อ.แซมูเอล ล็อกเลียร์ ผู้บัญชาการของกองบัญชาการทหารอเมริกันภาคพื้นแปซิฟิก แถลงต่อคณะกรรมาธิการการทหารของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่า พฤติการณ์ที่จีนกำลังถมที่ถมทะเลและเดินหน้าโครงการก่อสร้างที่มั่นทางทหาร 8 แห่งกลางทะเลจีนใต้อยู่ในเวลานี้ ถือว่าเป็น “การก้าวร้าวรุกราน” โดยสิ่งซึ่งปักกิ่งกำลังทำอยู่นี้ มีทั้งการถมที่ถมทะเล “เป็นพื้นที่ใหญ่โตทีเดียว” ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ และการปรับปรุงยกระดับสิ่งปลูกสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในหมู่เกาะพาราเซล ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ครอบคลุมทั้งการขยายและยกระดับพื้นที่จอดเรือ รวมทั้งการสร้างสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็นสนามบินบนเกาะปะการัง “เฟียรี ครอสส์” อันจะทำให้จีนสามารถนำเรือตรวจการณ์ไปประจำการในบริเวณดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเปิดทางให้ปักกิ่งสามารถแสดงอิทธิพลอย่างใหญ่โตในพื้นที่ซึ่งยังพิพาทแย่งชิงอยู่กับชาติอื่นๆ อยู่ รวมทั้งในที่สุดแล้วอาจนำไปสู่การติดตั้งประจำการอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ อย่างเช่นระบบเรดาร์พิสัยไกล กองทหาร และระบบขีปนาวุธขั้นสูง ล็อกเลียร์เตือนว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจกลายเป็นพื้นฐานรองรับสำหรับที่ปักกิ่งจะประกาศบังคับใช้เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ทั้งนี้ เมื่อปลายปี 2013 จีนได้ประกาศ ADIZ เหนือทะเลจีนตะวันออก โดยมีข้อกำหนดให้เครื่องบินทุกลำต้องรายงานตัวก่อนบินผ่านบริเวณดังกล่าว ทว่า ทั้งอเมริกา ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศต่างคัดค้านไม่ยินยอม สำหรับทะเลจีนใต้ ถึงแม้ปักกิ่งปฏิเสธว่าไม่ได้มีแผนประกาศ ADIZ เหนืออาณาบริเวณนี้ แต่การเร่งถมทะเลสร้างเครือข่ายหมู่เกาะจำลองขึ้นมาเช่นนี้ ก็ถูกหลายประเทศที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกับจีน มองว่าเป็นสัญญาณเตือนภัย สัปดาห์ที่แล้วภายหลังทางการจีนแถลงว่าตนกำลังดำเนินการเหล่านี้จริง โดยจะใช้พื้นที่บริเวณนี้เพื่อการป้องกันทางการทหารและการให้บริการต่างๆ ทางพลเรือน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศอื่นๆ ด้วย ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็ได้แถลงกล่าวหาว่า ปักกิ่งใช้ “ขนาดและพลกำลัง” ของตนข่มขู่ชาติที่เล็กกว่า จีนนั้นอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่แทบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ซึ่งนอกจากเป็นส่วนสำคัญของเส้นทางการค้าทางทะเลที่มีมูลค่าปีละ 5 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว ยังคาดการณ์กันว่าน่าจะอุดมไปด้วยน้ำมันและก๊าซ โดยที่นอกจากจีนแล้ว ยังมีฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันอยู่ ไม่เพียงแต่จีนเท่านั้น ล็อกเลียร์ยังตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงหลายเดือนมานี้ รัสเซียได้เพิ่มกิจกรรมทางทหารในย่านเอเชีย-แปซิฟิก จนใกล้เคียงกับระดับในยุคสงครามเย็นเมื่อ 30 ปีก่อน เป็นต้นว่า การเคลื่อนกำลังระยะไกลในทิศทางที่หันหน้าสู่อเมริกา ตลอดจนปรับปรุงยกระดับมาตรการป้องปรามนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ในบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของตนในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ รวมทั้งกำลังเรือดำน้ำของตนที่ปฏิบัติการอยู่ในย่านอาร์กติก และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดแบร์และเครื่องบินสอดแนมปออกปฏิบัติภารกิจในทะเลญี่ปุ่น รัฐอะแลสกาและชายฝั่งตะวันตกของอเมริกาเป็นประจำ นอกจากนั้น เขาระบุว่าในปีนี้รัสเซียยังเพิ่มการปรากฏตัวทางทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกัน คำแถลงของล็อกเลียร์สอดคล้องกับรายงานของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น (SDF) เมื่อวันพุธ (15) ที่ระบุว่า ในรอบปีงบประมาณที่ผ่านมา (1 เม.ย. 2014 - 31 มี.ค. 2015) เครื่องบินรบญี่ปุ่นต้องรีบทะยานขึ้นเพื่อทำหน้าที่สกัดกั้นรวม 943 ครั้ง หรือเพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อนหน้า และน้อยกว่าในปี 1984 ซึ่งญี่ปุ่นทำสถิติการขึ้นสกัดกั้นมากครั้งที่สุดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยเป้าหมายของการสกัดกั้นส่วนใหญ่คือเครื่องบินรบของจีนและรัสเซีย ซึ่งบินเฉียดเข้ามา ทั้งนี้ เครื่องบินจีนที่ตกเป็นเป้าหมายของการสกัดกั้น ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินขับไล่ที่บินเหนือหมู่เกาะที่เป็นข้อพิพาทกับญี่ปุ่นในทะเลจีนตะวันออก โดย SDF ส่งอากาศยานขึ้นสกัดกั้นเครื่องบินจีนรวมทั้งหมด 646 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 49 ครั้ง อย่างไรก็ดี เครื่องบินจีนไม่ได้รุกล้ำน่านฟ้าญี่ปุ่นแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน SDF ระบุว่า รัสเซียมีการเคลื่อนไหวทางทหารมากขึ้นนับแต่เข้าผนวกไครเมียจากยูเครนในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว และหลังจากเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธในช่วงปลายเดือนเดียวกัน รวมทั้งมีการซ้อมรบระหว่างเกาหลีใต้กับอเมริกา ปล อยากจะบอกสหรัฐว่า ตกลงคุณเป็น"ตำรวจโลก"หรอเห็นยุ่งแทบทุกเรื่อง
จีนหน้าด้านอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเหล่านี้ ก็เพราะแบบนี้ล่ะ ทางยุทธศาสตร์ จีนเสียเปรียบทางทะเล การหน้าด้านยึดพื้นที่เหล่านี้เป็นของตน จะช่วยปิดจุดอ่อนด้านนี้ได้อย่างดี หากจีนมีนโยบายรุกราน หนาวขี้ทั้งอาเซียน แต่ในทางตรงกันข้าม หากจีนไม่คิดทำอะไร ฐานทัพตรงนี้ใช้ ต่อต้านตะวันตก ไม่ให้มายุ่มย่ามกับประเทศแถบนี้ได้เป็นอย่างดี(แต่หลายๆประเทศต้องเสียสละให้พี่จีนหน่อยนะ) แถมยังให้รัสเซีย ยืมใช้ ช่วยแผ่อิทธิพลให้รัสเซียแถมปิดจุดอ่อนทางทะเลให้รัสเซียได้อีกต่อ ผนีกญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ได้ด้วยนี่หว่า
ถ้าจำไม่ผิด จีนมีการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะนี้มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงแล้วครับ แล้วก็ยังมีการอ้างสิทธิ์มาเรื่องจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นเข้ามายึดครอง พอญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก ทางจีนก็กลับมาอ้างสิทธ์เหมือนเดิม
ผมว่าเรื่องนี้ประเทศที่เครียดคือเพื่อนบ้านเราในอาเซียนนี่แหละครับ ทั้งเวียดนาม มาเลย์เซีย และฟิลิปินส์ เห็นจีนทำแบบนี้ ไม่รู้ว่าจะตอบโต้อย่างไร?
พออ่านถึงตรงนี้ บอกตรงๆว่า ไม่สงสัยเลยว่า ทำไมจีน ถึงประกาศให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน คงเป็น เพราะไทยเราวางท่าทีต่อกรณีพิพาทนี้ได้แนบเนียนมาก คงต้องปล่อยให้มาเลย์ เวียตนาม ปินส์แก้ไขด้วยตัวเอง ไปตามลำพังเถอะ เพื่อนไทยขอเป็นผู้ชมที่ดีแล้วกันนะ