วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีและทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของไทย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่มีการย้ายสถานที่ในการประดิษฐานหลายครั้ง เช่น พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นต้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ย้ายพระบรมรูปมาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระบรมชนกนาถ จนกระทั่ง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล จึงสำเร็จลุล่วง และได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมาโปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า “วันจักรี” ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ ด้วยความภักดียิ่ง
ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันโดยสามัญทั่วไปว่า วัดพระแก้ว อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย คือ พระมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกตนั้น นอกจากจะเป็นวัดที่มีศิลปะการก่อสร้าง อันประณีตงดงาม ซึ่งเป็นฝีมือช่างสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ที่เคยบ้านแตกสาแหรกขาด เพราะกรุงแตกเมื่อปี พ.ศ. 2310 นั้น ครั้นต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงเทพฯ ขึ้นเป็นราชธานีสืบแทนกรุงธนบุรี เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช 2325 นั้น ปราสาทเทพบิดร ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อมีพิธีวางเสาหลักเมือง เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2325 แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขึ้น เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต พระพุทธรูปสำคัญของไทย ที่ไปตกอยู่ในดินแดนล้านช้าง (กรุงศรีสัตนาคนหุต-เวียงจันทน์) มาเป็นเวลานานถึงสองร้อยกว่าปี และพระองค์ได้อัญเชิญกลับมาสู่แผ่นดินไทย เมื่อปี พ.ศ. 2321 การสร้างวัดพระแก้ว สำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2327 แล้วจึงได้มีพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกต ซึ่งประดิษฐาน ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี มาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดพระแก้วในปีนั้น วัดพระแก้ว จึงเป็นพระอารามหลวง ที่สำคัญยิ่งของไทย เพราะอยู่ในเขตพระราชวังหลวง เป็นวัดในพระราชวง ไม่มีพระภิกษุจำพรรษา เหมือนวัดมหาธาตุสมัยกรุงสุโขทัย หรือ วัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงทำนุบำรุงและทรงบูรณปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเรื่อยมาทุกรัชสมัย จนกระทั่งทุกวันนี้วัดพระแก้วก็ยังเป็นพระอารามหลวงอันงดงามโอ่อ่า ที่ไม่มีวัดใดจะงดงามเสมอเท่าเทียมได้ นอกเหนือจากองค์พระแก้วมรกต อันเป็นปูชนียสถานสำคัญยิ่งของชาติแล้ว ภายในวัดพระแก้วแห่งนี้ ยังมีสถานที่สำคัญยิ่งสุดยอดอีกแห่งหนึ่ง นั่นคือ ปราสาทพระเทพบิดร อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ ในพระบรมราชวงศ์จักรี ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว รวม 8 รัชกาลด้วยกันนับแต่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมบรมชนกนาถแห่งพระราชวงศ์จักรี จนกระทั่งถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในรัชกาลที่ 8 ปราสาทพระเทพบิดรแห่งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นไพทีสูง ข้างพระอุโบสถวัดพระแก้วทางด้านขวามือ เมื่อหันหน้าเข้าหาพระอุโบสถ ทางด้านข้างปราสาทพระเทพบิดร มีพระเจดีย์สีทอง 2 องค์ เป็นเจดีย์แบบย่อไม้สิบสอง ซึ่งเจดีย์ทั้งสององค์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้สร้างขึ้นตามประเพณีโบราณที่นิยมสร้างเจดีย์คู่วัดหน้าวัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบิดามารดานั่นเอง ส่วนด้านหลังปราสาทพระเทพบิดร ก็เป็นเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้สร้างขึ้น สำหรับปราสาทพระเทพบิดรนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างขึ้นภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีพระราชประสงค์ดั้งเดิมทีเดียว เพื่ออัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานในปราสาทแห่งนี้ แต่ทว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้ว ปรากฏว่า ที่ภายในปราสาทคับแคบเกินไป ไม่พอประกอบพิธีสำคัญ ๆ ได้ จึงได้ระงับที่จะอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานให้เสมอกับพระธรรม ตามพระราชดำริเดิมได้ ปราสาทเทพบิดรแห่งนี้ จึงมิได้ทำประโยชน์อันใด สืบมาจนถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า พระบรมรูปหล่อเท่าพระองค์จริง ของบรรพกษัตริย์แห่งบรมราชวงศ์จักรี ซึ่งแต่เดิมประดิษฐานอยู่ในที่ต่าง ๆ กัน ไม่สะดวกแก่การประกอบพระราชพิธี และการเข้าเฝ้าถวายความสักการะของอาณาประชาราษฎรทั่วไป ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้อัญเชิญพระบรมรูปหล่อ รวม 5 รัชกาล คือ นับแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จนถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มาประดิษฐานในปราสาทแห่งนี้ พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า ปราสาทเทพบิดร ปราสาทพระเทพบิดร จึงเป็นสถานที่อันสำคัญยิ่ง ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งปัจจุบันพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ พระบรมราชวงศ์จักรีรวม 8 พระองค์ ประดิษฐานอยู่ภายในปราสาทเทพบิดร คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รวม 8 รัชกาลด้วยกัน แต่เดิมมานั้น ปราสาทพระเทพบิดรจะปิดตลอดทั้งปี จะเปิดเพียงวันเดียวเท่านั้นคือในวันจักรี อันตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าหัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงถวายความสักการะ และบำเพ็ญพระราชกุศลถวาย พร้อมกันนั้นก็เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป เข้าสักการะในวันนักขัตฤกษ์อันสำคัญยิ่งวันนี้เพียงวันเดียวเท่านั้น ต่อมาในภายหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดปราสาทเทพบิดร เพื่อให้ประชาราษฎร์เข้าเฝ้าถวายความสักการะเพิ่มขึ้นอีกหลายวัน เนื่องในวันนักขัตฤกษ์ที่สำคัญ ๆ เช่น วันสงกรานต์ เป็นต้น
ปราสาทพระเทพบิดร ผมเคยไปสักการะพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริย์ 8 รัชกาลที่นั่น ช่วงที่มีงาน 84 พรรษา ในหลวง เคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ด้วย เป็นท้องพระโรงของพระเจ้าจักรา (แต่บรรยากาศภายใน จะถ่ายอีกที่หนึ่ง เซ็ทฉากขึ้นมาเอง) ไม่ขอพูดถึงผู้สร้างภาพยนตร์นะครับ เพราะรู้สึกขุ่นมัวใจ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ราชอาณาจักรไทยจึงได้เจริญอยู่ยืนยง มั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช เนื่องในวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันนี้ (6 เม.ย.) เมื่อเวลา 17.21 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ เข้าสู่พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ต่อจากนั้นเสด็จฯ ไปยังปราสาทพระเทพบิดร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช เนื่องในวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง