ตลาดบ้านและห้องชุดอันตรายแต่ไม่วิกฤติ ที่ว่าอันตราย เพราะยังมีบ้านที่สร้างไม่เสร็จแต่จะเสร็จในปีหน้า (ปี 2461-2) ขึ้นไปถึงเกือบ 170,000 หน่วย ถ้าตลาดที่ยังไม่เกิดวิกฤติในวันนี้เกิดวิกฤติขึ้นมา ผู้ซื้อบ้านคงแย่แน่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เปิดเผยข้อมูลผลการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยสำรวจโครงการต่างๆ มากกว่า 1,800 แห่งพบว่ายังมี ที่อยู่อาศัยซึ่งรวมทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ และห้องชุดที่ยังสร้างไม่เสร็จและคาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2560 จำนวน 182,407 หน่วย กลุ่มนี้ส่วนใหญ่คงไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากคงใกล้แล้วเสร็จ กลุ่มที่หน้าเป็นห่วงคือกลุ่มที่คาดว่าจะสร้างปี 2561 ซึ่งมีทั้งหมด 110,600 หน่วย กลุ่มหนึ่งจำนวน 57,703 หน่วยที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 ทั้งสองกลุ่มนี้มีจำนวนรวมกันถึง 168,303 หน่วย หากผู้ประกอบการรายใดถูกยึดทรัพย์ หรือประสบมรสุมทางการเงิน ก็อาจกระทบกระเทือนถึงเงินดาวน์ของผู้ซื้อบ้านที่จองซื้อไว้แล้วได้ เพราะว่าคงไม่มีโครงการใดที่คุ้มครองผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ.2551 (http://bit.ly/2kjQhEB) อย่างแน่นอน ยิ่งเมื่อพิจารณาจากจำนวนหน่วยขายที่ยังไม่มีผู้ซื้อและยังอยู่ในมือของผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินจำนวน 184,329 หน่วย ปรากฏว่ามีจำนวน 43,014 หน่วย ที่จะแล้วเสร็จในปี 2561 ยิ่งกว่านั้นยังมีอีก 30,968 หน่วยที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560 อีกราว 2 ปีข้างหน้าขึ้นไป ทั้งสองกลุ่มนี้รวมกันประมาณ 40% ของหน่วยขายที่รอผู้ซื้ออยู่ทั้งหมด หากเกิดวิกฤติ (แต่ยังไม่เกิดในวันนี้) ก็อาจทำให้จำนวนหน่วยขายที่ยังแทบไม่ได้สร้างเหล่านี้ลบหายออกไปจากตลาด กรณีนี้ ดร.โสภณ ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ.2551 ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้นในอนาคต หากผู้ประกอบการถูกยึดทรัพย์ เจ๊งหรือมีอันเป็นไปในทางใดทางหนึ่ง เงินดาวน์ของผู้ซื้อส่วนนี้ ก็จะไม่ถูกยึดไปด้วย ต้องคืนให้กับผู้ซื้อเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามโดยที่ พ.ร.บ.นี้ เปิดช่องโหว่ให้ทำสัญญากันก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินในฐานะผู้ขายและผู้ซื้อเห็นร่วมกันเท่านั้น ไม่ได้บังคับ จึงทำให้ผู้ประกอบรายใหญ่ไม่ยอมทำสัญญานี้ รายเล็กก็เลยทำตามเพราะจะได้ไม่เสียค่าธรรมเนียม เป็นการลดต้นทุนประการหนึ่ง แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็ทำให้ผู้ซื้อขายพบกับปัญหาเช่นนี้ ดร.โสภณ จึงเสนอให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.นี้ ซึ่ง (แสร้ง) ทำท่าแก้ไขมานานแล้ว แต่ก็ "ยักลึกติดกึก ยักตื้นติดกัก" แก้ไขไม่ได้เสียที หากรัฐบาลสามารถบังคับให้ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ ก็จะทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยมีความมั่นคง น่าเชื่อถือมากขึ้น ผู้ประกอบการทุกรายได้รับความไว้วางใจเพราะมีการคุ้มครองผู้บริโภคเหมือนกัน แต่โดยที่ขณะนี้ไม่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.นี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่จึงสามารถใช้ชื่อเสียง ได้เปรียบในเชิงการตลาดและการขายต่อรายย่อย ดังนั้น หากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.นี้ก็จะทำให้มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียมเพื่อผู้บริโภคยิ่งขึ้น รัฐบาลต้องแก้กฎหมายให้ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินทุกรายต้อง ร่วมกับผู้ซื้อบ้านค้ำประกันเงินดาวน์ให้เรียบร้อยเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค สร้างตลาดที่อยู่อาศัยให้น่าเชื่อถือ และส่งเสริมความเท่าเทียมกันในหมู่ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่มา: http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement1807.htm