“ ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา” ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ยื่นจดหมายเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตั้งกรรมการคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน หลังพบว่ามีการโขกค่ารักษาแพง และทุจริตค่ารักษา หนำซ้ำยังมีการเรียกร้องให้ คสช. ใช้มาตรา 44 ปลดบอร์ดแพทยสภา โดยระบุว่าเป็นกลุ่มอำนาจที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้การพัฒนาไม่ไปถึงไหน ความจริงการที่ลุกขึ้นมาของดิฉันและประชาชนนั้น เราไม่ได้ต้องการขอลดราคา เราไม่ได้ต่อรองราคาโรงพยาบาลเอกชน แต่ต้องการบอกว่าคุณอย่าโกง อย่าโก่ง อย่าคิดราคาเกินจริง ให้คิดราคาที่สมเหตุสมผล ประชาชนที่จะเข้าไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน เขารู้ว่าราคาต้องแพง เพราะเป็นการทำธุรกิจ แต่ว่าการแพงของคุณ ไม่ใช่หมายความว่ามาคุณบวกเอาตามใจชอบ หรือโกงแบบเสรี ซึ่งมันไม่ใช่ แล้วการที่โรงพยาบาลเอกชนออกมาตอบโต้ว่าแพงก็อย่าเข้านั้น ดิฉันมองว่าถ้าเป็นคนรวย เขามีศักยภาพที่จ่าย เพราะสะดวกสบาย ถึงราคาแพงก็คงรับได้ แต่สำคัญคือคุณไม่ต้องไปโกงเขา หรือค้ากำไรเกินควร แล้วที่คุณบอกว่าต้องลงทุนที่ดินและอาคารสถานที่นั้น คุณอย่าลืมว่าราคาที่ดิน และสถานที่เพิ่มทุกปี แล้วคุณจะผลักภาระให้ประชาชนไปตลอดหรือไม่ ส่วนเรื่องบุคลากร คือ แพทย์ ส่วนใหญ่แพทย์ไม่ใช่ลูกจ้างของโรงพยาบาลเอกชน ส่วนมากจะทำสัญญาแบ่งรายได้กัน ดังนั้นโรงพยาบาลก็ไม่ได้มีภาระเรื่องเงินเดือนแพทย์ อีกส่วนหนึ่งคือที่คุณบอกว่าลงทุนไปโดยที่รัฐไม่ได้ช่วยเหลือนั้น ก็ไม่จริง เพราะถามว่าคุณมีที่ดิน มีสถานที่ มีอุปกรณ์ แต่ถ้าไม่มีแพทย์ ถามว่าคุณทำงานได้ไหม คำตอบคือไม่ได้ ตอนคุณก่อตั้งโรงพยาบาลเอกชน คุณดูดเอาแพทย์ เอาบุคลากรทางการแพทย์ของรัฐไปแบบฟรีๆ โดยไม่ได้ลงทุนผลิตเองแม้สักบาทเดียว เพราะการสร้างหมอคนหนึ่งเกิดจากภาษีประชาชน พอหมอทำงานเก่งแล้ว คุณกลับดูดไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน แล้วขณะนี้เราแค่เรียกร้องให้ช่วยดูแลคนไข้ในราคาที่เป็นธรรม และรับผู้ป่วยสิทธิฉุกเฉินโดยรับเรตของ สปสช. คุณทำให้เราได้ไหม นี่คือสิ่งที่เราอยากตั้งคำถาม http://www2.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9580000055617
เจอเวปนี้ มีเพียบ จัดกันเต็มๆ http://www.g-pra.com/webboard/show.php?Category=general_talktalk&No=412932
อย่างแรกนะครับ โรงพยาบาลเอกชนบริหารในรูปแบบบริษัทที่ต้องการผลกำไรของผู้ลงทุน ไม่ใช่มูลนิธิ อันดับถัดไป ค่าก่อสร้างโรงพยาบาลถือว่าแพงมาก มีการปรับมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะอุปกรณ์ห้องผ่าตัดใหญ่ห้องเดียวตกประมาณ 3 ล้าน ตามด้วยห้องอื่นๆอีกสารพัด เยอะโคตร ค่าก่อสร้างโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก 30 เตียง เริมต้นที่ 30 - 50 ล้านบาท และจะสูงมากกว่านี้ถ้าสร้างในจังหวัดที่ไกลจากกรุงเทพออกไป โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง งานยาก หาผู้รับเหมาลำบาก ถัดไปคือ หาบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถเซ็ทและดูแลงานของโรงพยาบาลค่อนข้างยาก โดยเฉพาะในเขตจังหวัดเล็กๆหรือห่างไกล แพทย์ที่ประจำโรงพยาบาลกก็มีไม่ครบตามกำหนด 5 สาขา ต้องจ้างจากที่อื่นมาเป็นบางวัน ก็อีกแหละ แพง ขาดแคลนผู้บริหารที่เชี่ยวชาญงานบริหารโรงพยาบาล คนนี้ไม่ใช่หมอครับ ดังนั้น ค่าตัวแพง หมอเวรประจำโรงพยาบาล แค่จ้างเวร เสาร์ อาทิตย์ เดือนนึงก็แสนอัพ จิปาถะ ค่าแก็สทางการแพทย์ อุปกรณ์สิ้นเปลือง ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาด ล้าง ผึ่ง บรรจุ เครื่องมือเครื่องใช้ ให้สะอาดได้มาตรฐานที่กำหนด ตัวนี้เป็นระบบสนับสนุนให้งานบริการของโรงพยาบาลได้มาตรฐานตามที่กำหนด ผู้ป่วยไม่ค่อยคิดถึงจุดนี้ แต่จริงๆแล้วยุ่งยากฝุดๆ โรงพยาบาลรัฐ ที่ราคาย่อมเยากว่า เป็นเพราะรัฐจ่ายเงินอุดหนุน ซึ่งไม่ใช่ต้นทุนทั้งหมดที่แท้จริงในการให้บริการ ความแตกต่างของราคาจึงทียบกันไม่ได้เลย ต้องตัดสนใจเอาเองในการรับบริการ ที่พอเหมาะกับกำลังทรัพย์ที่มี
BDMS : บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) (โรงพยาบาลกรุงเทพ) http://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=BDMS&ssoPageId=5&language=th&country=TH เว็บset.or.th ไปโหลดงบการเงินมาดูได้ครับ หักต้นทุนแล้วเท่ากับกำไร12% มันก็อยู่ที่มุมมองแล้วว่า เอกชนกำไรแค่นี้มากมั๊ย
พ่อผม(87ปี)เจ็บแน่นที่หน้าอก พาเข้ารพ.เอกชน หมอบอกว่า น่าจะเส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ ต้องฉีดสี เพื่อดูว่าเส้นไหน จะได้ทำบอลลูน ปรากฎว่าตีบจริง เลยทำบอลลูน ทำเสร็จต้องอยู่ห้องไอซียู สังเกตุอาการ ต่อมาหมอบอกว่าต้องฟอกไต เพราะเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดสี ไตทำงานหนักเกินไป เลยเดี้ยง เข้าห้องฟอกไตได้ไม่นาน ก็ต้องพาออก เพราะความดันต่ำเกินไป กลับเข้าห้องไอซียูใหม่ คราวนี้ต้องสอดท่อช่วยหายใจ เพราะพ่อหายใจเองไม่สมบูรณ์พอ ค่าอ๊อกซิเจนต่ำเกิน เมื่อพ่อรู้สึกตัว เลยแสดงอาการไม่สบายใจที่ต้องสอดท่อ เข้าในลำคอ ผมและพี่ๆจึงอธิบายให้พ่อรู้ว่าทำไมต้องทำ พอพ่อเข้าใจ ท่านก็หลับตา และชีพจรก็แผ่วลงเรื่อยๆ จนหมดเป็นสูญ (ท่านเคยพูดไว้ว่าถ้าเจ็บป่วย จนหมอต้องสอดท่อโน่นนี่ ให้ลูกๆบอกหมอว่าอย่ายื้อ ขอให้ปล่อยท่านไป) สรุปค่ารักษา สี่แสนกว่า แต่พ่อก็ไม่รอด
กำไรแค่นี้จริงครับ ทำโรงพยาบาลต้นทุนสูง ตลาดก็มีการแข่งขันแบบเสรี เรื่องแต่งบัญชีโกหก สมันนี้ยากแล้ว ระบบตรวจสอบของตลาดหลักทรัพย์เยอะมาก ต่อให้โกงภาษีก็ทำได้ไม่กี่ปี ทำแล้วก็ไม่คุ้มค่าปรับทางภาษีมันสูงมาก และที่เขาลงทุนเพิ่มเพราะตัวเลข12%สำหรับบริษัทในตลาดถือว่ากำไรดี ถ้าลองไปเทียบกับบริษัทอื่นเช่น7-11 cpallกำไรน้อยกว่าเยอะ จุดยืนของผมเชื่อในระบบตลาดแบบเสรี เพราะผมไม่เห็นว่าอะไรที่รัฐเข้าไปจัดการแล้วมันจะดีซักอย่าง แนวคิดแบบสังคมนิยมเหมือนจะดูดี แต่พอปฎิบัติจริงประชาชนเดือดร้อนกว่าเดิม ส่วนวิธีการให้สังคมเชื่อแนวคิดแบบสังคมนิยมก็วิธีเดิมๆ คือ กล่าวหา ใส่ร้าย และสัญญาว่าเชื่อฉันแล้วมันจะดีขึ้น
แล้วผมขอร้องเถอะ ไอ้การสร้างข่าวเท็จทำลายฝ่ายตรงข้าม อย่าเอามาใช้กับวงการแพทย์เลย คุณดูผลกระทบเถอะ ลองไปอ่านดู สมัยนี้ ใครที่ยังอยากให้ลูกเป็นหมอ ขอพูดนิดนึงค่ะ http://pantip.com/topic/33647321 อีกข่าว ทำร้ายร่างกายแพทย์/พยาบาล ที่ รพ สุราษฎร์ธานี ในคนไข้ร้อยรายมันต้องมีสักรายสองรายมีปัญหา แต่คุณเล่นเอารายที่มีปัญหามาพูดซ้ำไม่หยุด ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงเป็นยังไง ก็ไม่รู้
อาแป๊ะผมรักษามะเร็งที่บำรุงราษฎร์ หมดไป10กว่าล้าน ตอนนี้เสียไปแล้ว แต่ลูกหลานยอมจ่ายเพื่อให้คนที่รักสบายที่สุด คือโรคบางโรคโอกาส50:50 หมอเขาจะถามญาติก่อนว่า"จะรักษามั๊ย"แล้วเสนอทางเลือกให้มา ไม่มีใครผิดครับ
ดูความบ้าเจ๊ คดีหมดผ่าตัดไส้ติ่งคนไข้ตาย http://thaimedicalerror.blogspot.com/2007/06/blog-post_5306.html แล้วคุณอ่านผลกระทบดู http://thedoctorwearsprada.exteen.com/20071208/entry/page/2 http://topicstock.pantip.com/lumpini/topicstock/2007/12/L6103211/L6103211.html สุดท้ายคดียกฟ้อง หมอไม่ผิด http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9510000107901 แต่ผลกระทบคือ ต่อไปนี้ใครเป็นไส้ติ่ง ต่อให้จะแตกก็ต้องทนนั่นรถไปศูนย์ใหญ่นะครับ
ลูกสาวเป็นตาแดง ติดมาจากครอบครัวของน้องชาย พาลูกสาวไป รพ เอกชน ถนนตากสิน ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน หมอเอากล้องส่องนัยตา ให้อ่านตัวเลข เสร็จแล้วเขียนใบสั่งยาเป็นยาหยอดตา จ่ายไปพันสองร้อยบาท
เคยอยู่ทั้ง 2 แบบ.. รัฐบาลถูกกว่า... การรักษาตามมาตรฐาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ตามอายุการใช้งาน ห้องพักสภาพพอพักรักษาตัว อาหารค่อนข้างจะไม่ชอบ ความสะดวกสบายทั้งต่อตัวเองและผู้มาเยี่ยมน้อย รอคิวนาน ที่จอดรถหายาก พยาบาลแล้วแต่ดวง เอกชนแพงกว่า... การรักษาตามมาตรฐาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ค่อนข้างใหม่ทันสมัย ห้องพักสภาพดี บางที่ระดับโรงแรม อาหารถูกปากเลือกได้ ความสะดวกสบายทั้งต่อตัวเองและผู้มาเยี่ยมมาก รอคิวไม่นาน ที่จอดรถเพียงพอ พยาบาลน่ารัก ทีนี้ก็อยู่ที่ผู้ป่วยจะตัดสินใจแล้วละครับ ว่าจะยอมจ่ายมากกว่าเพื่อรับความสะดวกสบายอื่นๆที่มากกว่าหรือไม่ รับได้กับราคาที่สูงขึ้นเพื่อแลกกับบางสิ่งที่มากขึ้นหรือเปล่า แต่สิ่งที่โรงพยาบาลเอกชนทุกที่ควรทำคือให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาขั้นพื้นฐานก่อน ให้อยู่ในระยะปลอดภัยแล้วค่อยส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นๆต่อไป
ถูกจัง ผมตัดกล้วย แล้วไม่รู้ว่ามีตัวอะไรบินเข้าไปในหู ตกใจมากเพราะเสียงมันดังโกรกกรากอยู่ในหู เอาน้ำหยอดก็แล้ว ไฟฉายส่องก็แล้ว แต่ไม่เห็นมีอะไรออกมา เลยรีบอาบน้ำแต่งตัวไปรพ.เอกชน เพราะกลัวว่าถ้าไปเข้าคิวอยู่ที่รพ.รัฐ เด๋วมันเกิดกัดเยื่อแก้วหู จะเป็นเรื่องใหญ่ ขณะขับรถไป ในหูมันก็เงียบไป แต่ก็รู้สึกไม่สบายใจ เลยหาหมอให้แน่นอนดีกว่า หมอเอาเครื่องมือส่องดูแล้วบอกว่า ไม่มีอะไร แต่มีรอยข่วนนิดหน่อย แล้วก็ให้ยาไปกิน ***ยาแก้อักเสบ ***ยาแก้ปวด ที่เหลือจำไม่ได้แล้วอีกสองอย่าง บิลค่ารักษารวม 4600 กว่าบาท คิดในใจ ตูต้องตัดกล้วยกี่เครือ ถึงจะคุ้มนะเนี๊ยะ
แมงคงเหม็นขี้หูตายไปแล้วแหละครับ พอไปถึงโรงบาล พอหมอส่องดูแล้วก็บอกว่าเหม็นจิงจิง เลยขอคิดค่าเหม็นเยอะๆหน่อย อิอิ ล้อเล่น เขาคงดูฐานะ การแต่งกาย ด้วยว่าสามารถจ่ายค่ารักษาได้มั้ย แต่ว่าขนาดนี้ ครึ่งหนึ่งของเงินเดือนน้องผมเลยนะ
ไม่ได้คิดจะทำลายรพ.เอกชน เพราะเป็นทางเลือกหนึ่งที่เราจำเป็นต้องใช้ เพราะรพ.รัฐแถวบ้านผม เขาเรียกโรงฆ่าสัตว์ เพราะหลายๆคนที่เข้าไปแล้ว ต้องขอออกไปรพ.เอกชนแทน แต่ก็มีหลายคนที่รักษาแล้วหาย ค่าใช้จ่ายน้อย มันกลายเป็นเรื่องของโชคชะตา ว่าคุณไปเจอหมอดี หรือไม่ดี ผมแค่อยากให้คิดค่ารักษาที่เป็นธรรมกว่านี้สักหน่อย อย่าโหดกันมากนัก บางคนหาเงินมาทั้งชีวิต เข้ารพ.เอกชนครั้งเดียว หมดตัวและอาจจะเป็นหนี้ต่อไปด้วย ถ้ารพ.เอกชน คิดค่ารักษาที่พอรับได้ คนเกือบทั้งประเทศคงไม่มีใครออกมาโวยวายหรอกครับ เมื่อ2เดือนที่แล้วภรรเมียเป็นหวัด ไอด้วย ไออยู่หลายวัน จนต้องไปหาหมอ ก็ไปรพ.เอกชนที่เดิม เพราะทั้งอำเภอมีที่เดียว ได้ยามาหลายชนิด ทั้งทาน ทั้งอม ทั้งพ่น ค่ารักษา 5400กว่าบาท ทานยาจนหมดก็ไม่หาย เลยรักษาแบบโบราณ กินลูกจันทร์ กินถั่วที่เขาทำเป็นแท่งๆหวานๆ คือกินทุกอย่างที่เพื่อนๆแนะนำ อยู่ๆมันก็หายไปเอง ไม่รู้ว่าเพราะกินอะไรกันแน่ การแต่งบัญชี อาจจะทำไม่ได้ แต่การซิกแซ๊กให้ต้นทุนสูงทำได้ ยกตัวอย่างบ.ยางแห่งหนึ่ง เข้าตลาดหลักทรัพย์เสียด้วย เขาตั้งบ.ลูกขึ้นมาป้อนสินค้าให้ ฝ่ายจัดซื้อในเครือบ.นี้ทุกคนต้องอุดหนุดสินค้าของบ.ลูกนี้ก่อน เมื่อบ.ลูกป้อนให้ไม่ทัน จึงมีสิทธิ์ซื้อจากคนอื่น แต่รู้ไหม ราคาของ ที่ซื้อจากบริษัทลูกจะแพงกว่าของรายอื่นเกือบเท่าตัว คุณภาพก็ห่วย ถ้าใช้ไม่ได้ ก็ให้ทำลายทิ้งไป สั่งซื้อเอาใหม่ ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายสโตร์ ทำอะไรไม่ได้ เพราะนโยบายของนายเป็นแบบนี้
จริงๆมันมีทางออกครับ คือต้องวางแผนทำประกัน ที่อเมริกาไม่มีรักษาฟรีเหมือนบ้านเรานะ คนอเมริกันต้องจ่ายอย่างต่ำ200us ต่อเดือนเป็นค่าประกัน อยากรักษาฟรีไปรัฐ ถ้ามนุษย์เงินเดือนอยากรักษาดีๆก็ต้องทำประกัน แต่จะไปบีบเอกชนที่เขาลงทุนเอง ผมว่าไม่แฟร์
บ้านผมไปที่ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ประจำครับ บริหารแบบเอกชน และกำไรที่ได้ไปหนุนศิริราชหลัก ถือว่าได้ทำบุญไปในตัว แถมลูกผมต้องทำct scan หมอยังช่วยส่งตัวไปต่อคิวที่ศิริราชหลัก รอหลายเดือนแต่ประยัดไปได้ครึ่งแสน หมอและพยาบาลใจดีมากๆ
แบบนี้ รัฐมัน noob ครับ ที่ไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมเชิงพานิชย์ ตลาดเสรีแบบสุดโต่ง หรือสังคมนิยมแบบสุดโต่ง ปลายทางก็ไม่สวยงามทั้งคู่ละครับ
ประเด็นคือบ่นว่าแพง โก่งราคา แต่ไม่แจกแจงต้นทุน อาศัยความรู้สึกหรือเทียบเคียงกับโรงพยาบาลรัฐ ไม่ได้ครับ ต้นทุนและการบริการแตกต่างกัน เอาง่ายๆ เงินเดือนหมอแตกต่างกัน เงินเดือนพยาบาลแตกต่างกัน เครื่องมือเครื่องไม้แตกต่างกัน คุณภาพยาที่ใช้แตกต่างกัน ที่สำคัญองค์กรเอกชนหวังกำไร แต่องค์กรรัฐไม่หวังกำไร คุณลงทุนสร้างโรงพยาบาลใหญ่ๆไม่ใช่แค่คลีนิค ใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยล้าน ไม่นับรวมบุคคลากร กำไรสิบสองเปอร์เซ็นต์ไม่สูงมาก แต่ที่ต้องจ่ายสูงมากก็ค่าตัวหมอ ค่าเครื่องมือ คิดง่ายๆ โรงพยาบาลจ่ายค่าตัวหมอเดือนละสองแสน ทำงานยี่สิบวัน วันละแปดชั่วโมง เฉลี่ยวันละหมื่น หรือชั่วโมงละ 1250 บาทแล้ว ถ้าคุณเฉลี่ยค่าพยาบาล ค่าเภสัชกร ค่าพนักงานทั่วไป ค่าเครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆ ผมว่าชั่วโมงนึงก็หลายหมื่นแล้วครับ ถ้าตีค่าเฉลี่ยต้นทุนแค่หมื่นบาท กำไรสิบสองเปอร์เซ็นต์ รับลูกค้าชั่วโมงละหกคน ก็เฉลี่ยคนละ ประมาณหนึ่งพันเก้าร้อยบาท ไม่รวมค่ายา ถ้าตีค่าเฉลี่ยต้นทุนที่สองหมื่นบาท ก็ตกสามพันแปดร้อยบาท ไม่รวมค่ายา ค่ายาผมว่าก็หลายร้อยบาทแล้ว ถ้าผ่าตัดต้นทุนสูงกว่านี้อีกมากมาย เหมือนที่คุณเผด็จการที่รักบอกละครับ สมัยนี้อยากรักษาพยาบาลดีๆ ก็ทำประกันครับ. จ่ายครับ ของฟรีและดีไม่มีในโลก อย่าสร้างกระแสแบบไม่มีเหตุผลมารับรอง เข้าใจว่าเจ็บแค้น แต่ต้องแยกแยะอย่ามาปน จนกลายมาทำลายระบบเลย แค่เรื่องสามสิบบาทก็แย่พอแล้ว เดี๋ยวเอกชนเขาเลิกทำ อยากหาหมอดีๆเดี๋ยวบินไปหาหมอ เขมร ลาว พม่า เวียดนาม ฟิลิปินส์ กลายเป็นเออีซีเอื้ออาทรกันทีเดียว
สดๆ เมื่อครู่เลยครับ พึ่งล้างรถ พื้นลื่น นิ้วเท้าไปโดนประตูโรงรถ เลือดอาบเลย ไป รพ พระราม9 ของ พ่อแม้วมา แค่ทำแผล ไม่มีเย็บ ค่าหมอ 500 ค่าพยาบาล 300 รวมๆ 1,700 กว่าบาทครับ แต่ ผมไ่ได้จ่ายเอง มีประกันครับ
รักษาแผลกับโรงพยาบาลเอกชนหายเร็วกว่าโรงพยาบาลรัฐ อันนี้ประสบการณ์ตรงเลย แต่ต้องไปล้างแผลตามนัดเขานะ หายเร็วแผลสวย เคยถามเขาบอกว่าใช้ยาใส่แผลต่างกัน
ไม่ใช่ว่าจะให้รพ.คิดถูกๆจนเขาอยู่ไม่ได้ แต่อย่าแพงเวอร์ได้ไหม ถามจริง ดูแมลงเข้าหู ให้ยา 4000กว่าบาท เป็นหวัดไอ 5000กว่าบาท คุณว่ามันสมควรไหม ผมเป็นแผลโดนเหล็กบาด ยาวประมาณครึ่งเซ็นต์ ชะล่าใจไม่ใส่ยาเพราะเห็นว่าแผลนิดเดียว แต่มันเกิดเป็นหนอง เขี่ยหนองเองก็ไม่ออก เพราะมันอยู่ลึก ไปหาหมอให้ช่วยผ่าให้ ***ค่าปรึกษา 300 ***ค่าเตียง(ก็เตียงเล็กใกล้ๆห้องหมอนั่นแหละ เหมือนเตียงตรวจอาการทั่วไป) 1500 ***ค่าสำลี ยาทาฆ่าเชื้อ 1200 ***ค่ามีดหมอผ่าครึ่งเซ็นต์(ไม่ต้องเย็บ) 1500 ***ค่ายาแก้อักเสบ แก้ปวด กับยาอีกตัวหรือสองตัวจำไม่ได้(ไม่ต้องฉีดยากันบาดทะยัก เพราะผมฉีดมาก่อนแล้ว) รวมแล้ว 6000กว่าบาท แพงเวอร์ไหมครับ ค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน คิดไม่เท่ากัน ผมขอแค่ให้พอสมควรจะได้ไหม
ทุกอย่างอยู่ที่ต้นทุนที่โรงพยาบาลเขาลงทุน ผมยกตัวอย่างให้ดู รายละเอียดในงบดุลก็แสดงว่าเขาได้กำไรรวมเท่าไหร่ ผมเชื่อว่า เขาคิดพอสมควรที่เขาอยู่ได้แล้ว เพราะตลาดเสรีมีการแข่งขัน ถ้าแพงไป คุณมีทางเลือกไปคลีนิคหรือโรงพยาบาลรัฐครับ ถ้าแพงมากไป โรงพยาบาลเขาไม่มีลูกค้า เจ๊งครับ เขาก็ต้องปรับตัวลดต้นทุนสร้างกำไรครับ ผมยกตัวอย่างแจกแจงตัวเลขจากที่ได้ยินมาหลักฐานแวดล้อม เช่น ได้ยินมาว่าเงินเดือนหมอที่รู้จักทำโรงพยาบาลเอกชนเท่าไหร่ ก็ลองคิดเป็นต้นทุนให้ดู เช่นต้นทุนเขาชั่วโมงละสองหมื่น ประมาณการลูกค้าแค่ชั่วโมงละหกคน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนก็เกือบสี่พันบาทแล้ว ถามผมรวมค่ายาสี่พันบาทเหมาะสมไหม ก็เหมาะสมนะกับต้นทุนที่ผมประมาณการณ์ แต่แพงไหม ถ้าผมจ่ายได้รักษาหายก็ไม่แพง ถ้าไม่หายก็แพง ถ้าผมมีประกันจ่ายให้ก็ช่างมัน ถ้าผมจ่ายไม่ได้ก็แพง ผมก็ต้องมองหาที่อื่นที่ถูกกว่า ถ้าหลวมตัวเข้าไปแล้วก็คงต้องจ่าย ดังนั้นก็ควรถามค่าใช้จ่ายก่อนใช้บริการ ประเด็นคือโดยตัวธุรกิจนี้ต้นทุนเขาก็แพงอยู่แล้ว ค่าแรงหมอ ค่าเครื่องมือ ค่ายา หากเอื้ออาทรเฉลี่ยทุกข์สุขก็แบบระบบประกันสังคมประกันสุขภาพผ่านโรงพยาบาลรัฐ ถ้าอยากให้ถูกก็สร้างต้นทุนให้ถูก ผลิตหมอปีละสักห้าหมื่นคนต่อปี พยาบาลสักแสนคนต่อปี ผลิตยาเอง เอาแบบยาเกรดเอนะ ลงทุน R&D เองเพื่อสร้างยาเกรดเอ เอามาขายถูกๆ ผลิตเครื่องมือแพทย์เอง ทั้งเครื่องไฮเทคโลว์เทค ลงทุน R&D เองเพื่อสร้างเครื่องมือแพทย์ไฮเทคโลว์เทค เอามาขายถูกๆ
อีกอย่างที่ผมเห็นนะ คลอดลูกทีโรงพยาบาลเอกชน ห้าหมื่น เจ็ดหมื่น ก็สู้ขาดใจ ทำไมไม่คลอดลูกกันที่โรงพยาบาลรัฐ ถูกกว่าเยอะ เพราะมีความคาดหวังกันหลายปัจจัยหลายเรื่อง คิวยาวเอย หมอเก่งเอย โรงพยาบาลเอาใจใส่เอย มีห้องพักสบาย เครื่องมือดี พยาบาลดูแลดี เหล่านี้หาไม่ได้ในโรงพยาบาลรัฐบาล เป็นต้น ปอลิง ผมไม่มีลูก แต่เห็นหลายครอบครัวเลือกโรงพยาบาลเอกชนทั้งนั้น สรุป อยากได้ของดีคือใช้โรงพยาบาลเอกชนไม่อยากใช้โรงพยาบาลรัฐ แต่อยากจ่ายน้อยหรือใช้ฟรี และต้องไม่เสี่ยงตาย พิการ บาดเจ็บ ถ้าหยั่งงั๊นผมว่าห้ามป่วย ห้ามบาดเจ็บ ดีกว่า 5555
เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ออกแถลงการณ์เสนอ 3 มาตรการ สั้น -กลาง-ยาว ควบคุมราคา รพ.เอกชน ระบุภายใน 72 ชั่วโมง ห้ามเก็บมัดจำ เสนอ นายกฯใช้ มาตรา 44 ยุบแพทยสภา พร้อมผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางสาธารณสุข วันนี้ (17 พ.ค.) นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้ออกแถลงการณ์ ข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี โดยมีเนื้อความว่า สืบเนื่องจากเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้ยื่น 3.3 หมื่นรายชื่อของประชาชน ที่สนับสนุนให้ตั้ง "คณะกรรมการควบคุมราคา รพ.เอกชน" ต่อท่านนายกรัฐมนตรี โดยผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไปเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2558 ที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ขอขอบพระคุณที่ให้ความสำคัญ และใส่ใจทุกข์สุขของประชาชน ด้วยการสั่งการไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งแก้ไขปัญหา จนนำไปสู่การออก 3 มาตรการ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ของกระทรวงสาธารณสุขแล้วนั้น จาก 3 มาตรการดังกล่าว เครือข่ายฯ ขอเสนอเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ มาตรการระยะสั้น ภายใน 1 เดือน กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1. ภายใน 72 ชั่วโมง ห้ามรพ.เอกชน เรียกเก็บค่ามัดจำ หรือให้คนไข้ หรือญาติเซ็นรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล 2. เมื่อพ้น 72 ชั่วโมง ให้รพ.เอกชน ส่งตัวคนไข้ไปรพ.ตามสิทธิ โดยห้ามให้คนไข้ หรือญาติสำรองจ่าย หรือเซ็นรับสภาพหนี้ 3. ในกรณีที่ รพ.ตามสิทธิเตียงเต็ม ให้หน่วยงานต้นสังกัด 3 กองทุน คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ดำเนินการหาเตียงให้กับคนไข้ หากหาเตียงไม่ได้จำเป็นต้องอยู่ รพ.เอกชนต่อไป ให้ทั้ง 3 กองทุนรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 4. ให้มีบทลงโทษหากมีการไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 และ 2 5. ให้ประกาศรูปแบบใบยินยอมให้รักษา ของทุกโรงพยาบาลให้เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ ให้แยกใบยินยอมให้รักษา กับใบรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ออกจากกัน มาตรการระยะกลาง 1. ให้ใช้ ม.44 ยุบบอร์ดแพทยสภา ที่มาจากการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน แล้วเลือกคนกลางที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้าไปเป็นกรรมการ โดยคงคณะกรรมการโดยตำแหน่งเอาไว้ 2. ให้ปกป้องสวัสดิภาพของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ด้วยการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน เพื่อลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้ และมาตรการระยะยาว 1. ให้เร่งยกระดับมาตรฐาน รพ.รัฐบาล ให้มีเตียงและอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเพียงพอ 2. เพิ่มความมั่นคงให้กับบุคลากรทางการแพทย์รพ.รัฐบาล ทั้งค่าตอบแทนและการให้ทุนเรียนต่อเฉพาะทางอย่างเพียงพอ เพื่อรักษาบุคลากรเอาไว้ในระบบ 3. ให้แก้ไขพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ให้คนนอกเข้าไปเป็นกรรมการแพทยสภาใน สัดส่วน 50:50 เพื่อความเป็นธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้และเป็นธรรมต่อประชาชน จาก http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000056086 ผมนี่งงเบย
ฟังคนมีสตังค์คุย อิจฉา อยากลองมั้ง! รักษาแต่ รพ.พระมงกุฏิฯ เพราะมีสิทธิ์เบิกจ่ายตรง กรมบัญชีกลาง เฉพาะของคุณยาย ความดัน ไทรอยต์ ชัก เบาหวาน ฯ คงต้องขายบ้านแน่ๆๆ
เขามีแต่อิฉาคนมีสิทธิ์เบิกตรง ยาดีกว่าโครงการ30บาทเยอะ! แต่มีคนแนะนำมาว่า ถ้าเราไปเอกชนเราสามารถบอกหมอได้ว่าต้องการใบสั่งแพทย์ไปซื้อยาเอง หรือถ้าไปร.พ.รัฐก็บอกหมอว่าขอใบสั่งแพทย์ไปซื้อยาเอง จะได้ยาที่ดีกว่าถูกกว่า
เดี๋ยวนะครับ ผมรู้สึกว่าฟากนึงก็ถกแต่เรื่อง ทฤษฎี ประเภท รพ. เอกชน ลงทุนเยอะ ยุคสมัยนี้แต่งบัญชี โกงภาษีกันไม่ได้หรอก นี่ไม่ทราบว่าอยู่บนโลกความจริงกันหรือเปล่า ถ้ามีพรรคพวกที่อยู่บริษัทรับจ้างทำบัญชี ไม่ต้องบริษัทใหญ่โตขนาดเข้าตลาดหลักทรัพย์หรอก เอาแค่ร้านห้องแถว ลองไปถามกันดูว่า บริษัทที่เค้าทำบัญชีให้มีการ แต่ง กันบ้างมั๊ย เพราะบริษัทใหญ่ถ้าไม่ซี้กันจริง คนตรวจบัญชี+เซ็นรับรองงบการเงินคงไม่ยอมรับซี้ซั้วกันหรอกมั๊ง .....การที่อยู่แต่ในโลกของตนเองแล้วมองว่านั่นคือโลกทั้งหมด คงไม่ใช่แล้วมั๊ง แล้วที่สำคัญ คนที่บ่นเรื่องค่ารักษาแพงนี่ มีตั้งแต่ ผู้ปกครองนักเรียน แม่ค้า ยันไปถึง แพทย์ด้วยกันเอง ล่ะนะ เรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงไม่ใช่อุปทานหมู่เลื่อยลอย ส่วนเรื่องลงทุนสูงนี่ ผมเห็นในเวปฝ่ายหนุน รพ. เอกชน ยังอ้างไปถึงเรื่อง ซื้อที่ดินแพง ......เอ่อ ที่ดินมันเกี่ยวอะไรกับการมาเก็บค่ารักษาแพงล่ะครับ นั่นมัน สินทรัพย์ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย ต่อให้อนาคตเลิกกิจการทุบ รพ. ทิ้ง ที่ดินก็ขายได้นะไม่ใช่ต้องทิ้งไว้ปลูกหญ้า ถ้าจะเอาต้นทุนมาคำนวณคงได้เฉพาะค่าเสื่อมของสิ่งปลูกสร้าง+ผลตอบแทนจากการลงทุนที่คาดหวัง+ค่าบริหารจัดการ ส่วนที่บอกว่า รพ. เอกชน จ่ายยาดีกว่า รพ. รัฐ ..... คนพูดเหมือนจะพยายามกักพูดไม่หมดนะ พูดแค่ในส่วนที่สนับสนุนจริตของตนเท่านั้น จริงอยู่ว่ายาดีกว่า แต่ถ้ายาดีที่ว่าคิดราคาแพงกว่าท้องตลาด 3 เท่า อันนี้ล่ะถึงเป็นที่มาของการเรียกร้องให้มีการควบคุมราคาในตอนนี้ไง เพราะตอนนี้น่ะหมกเม็ดทั้งเรื่อง ค่าตรวจ และ ค่ายา ดูข้อมูลฝ่ายสนับสนุนนายทุน รพ. เอกชนในเวปแล้ว ก็ได้แต่นั่งหัวร่อ นึกถึงรัฐบาลนังโง่ ที่พยายามแก้ตัวว่า ของแพงเพราะคิดกันไปเอง ยังไงยังงั้นเลย ขนาดอนุกรรมการตรวจสอบราคาค่ารักษาทางการแพทย์ ที่ สนช. ตั้งขึ้นมา ที่มีนายแพทย์เป็นประธานฯ ยังยอมรับเลยว่า แพงจริง ๆ
เรื่องบัญชีผมไม่ถนัด ขอไม่ออกความเห็นเรื่องนี้ แต่ส่วนที่บอกว่าให้ควบคุมราคายาที่แพงกว่าท้องตลาด... ผมเห็นด้วยถ้าจะทำ แต่ไม่ถึงกับต้องควบคุมให้เท่ากับราคาท้องตลาดก็ได้... และถ้าทำตามหลักการนี้ ก็น่าจะต้องขยายผลไปถึงการควบคุมโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ที่ขายราคาอาหาร เครื่องดื่ม สินค้า ที่แพงกว่าท้องตลาดมาก บางอย่างน่าจะเกิน 3 เท่าด้วยซ้ำครับ
ถ้าอ้างถึงเรื่อง โรงแรม ร้านอาหาร ผมก็เห็นด้วยนะถ้ากรมการค้าภายใน ควบคุมราคาท้องตลาด แต่เนื่องจากโรงแรม 5 ดาว ย่อมมีต้นทุนบริหารจัดการสูงกว่าโฮมสเตย์ เพราะฉะนั้นก็เอาไปคิดในส่วนของเซอร์วิสชาร์จซะ เช่นน้ำดื่มสิงห์ 7-11 ขาย 7 บาท โรงแรมขาย 35 บาท เพราะคิดค่าเก้าอี้โซฟาและแอร์ ยิ่งมีดนตรีให้ฟังก็ไปคิดตรงนั้น เพราะ 7-11 ไม่มีให้แบบนี้ รพ. เอกชน มีโซฟานุ่ม+แอร์เย็นก็ไปคิดเซอร์วิสชาร์จ ใบบิลคิดเงินก็แยกออกจากรายการค่ายาและค่าตรวจซะ และเชื่อว่า ถ้า รพ.กรุงเทพ สุขุมวิท มีเซอร์วิสชาร์จที่สูงกว่า รพ. เพชรเกษม บางแค ผมว่าคนทั่วไปจะเข้าใจและทราบว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้นนะ แต่ที่ผ่านมาเพราะทำให้ปนเป กำกวม อึมครึม ไม่พยายามแจกแจงให้เห็นตัวเลขที่แท้จริง แล้วอ้างโน้น นี่ นั่น สารพัด พอโดนเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการมาศึกษาและกำหนดราคามาตรฐานไว้อ้างอิง บรรดานักธุรกิจ รพ. ถึงได้ดิ้นพล่านกันยังกับอะไร เมื่อมีราคากลางอ้างอิงแล้ว ก็แสดงเรทเซอร์วิสชาร์จของแต่ละ รพ. ไว้เลยยิ่งดี เช่นค่ายา 100 แต่ รพ. เอ มีต้นทุนค่าจ้างเภสัชกรสูงกว่า รพ.รัฐ 25% ก็มากำหนดเซอร์วิสชาร์จของค่ายาไว้ 25% ส่วนค่าแพทย์ถ้า รพ. รัฐจ้างแพทย์ 100,000 รพ.เอกชนจ้าง 130,000 ก็กำหนดเซอร์วิสชาร์จค่าตรวจไว้ 30% และกำหนดแบบนี้กับค่าห้องพัก ผ่าตัด ปฏิบัติการ เรื่องพวกนี้อาจจะดูยุ่งยากถ้าจะทำ แต่ถ้าวันนี้ไม่เริ่มทำซะที ยังไงก็ไม่มีทางทำได้สำเร็จ จริงมั๊ยครับ และขอย้ำ การบริการด้านการแพทย์สำหรับเมืองไทย ไม่ใช่การแข่งขันอย่างเสรี 100% แน่นอน เพราะสัดส่วนของบุคลากรกับจำนวนประชากร ไม่สมดุลกัน เมื่อทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการมีเท่าเดิม ก็ต้องมีการแย่งชิงทรัพยากรกัน ใครทุนหนาสายป่านยาวก็ชิงทรัพยากรไปได้มาก จากนั้นก็มา ถอนทุน เอากับประชาชน สมมติว่า รพ. รัฐ มีคนไข้วันละ 10000 ต่อแพทย์ 100 คน (อัตรา 100:1) ในขณะที่เอกชน มีคนไข้วันละ 1000 ต่อแพทย์ 25 คน (อัตรา 40:1) แบบนี้จะมาบอกว่า ประชาชนมีทางเลือกคงเป็นมุมมองที่ไม่ครบถ้วนรอบด้านแล้วล่ะมั๊ง ส่วนที่บอกว่า ให้ประชาชนทุกคนต้องทำประกันสุขภาพ นั่นได้ประโยชน์เรื่องค่ารักษา แต่ระยะเวลารอตรวจ สมมติว่า รพ. รัฐอยู่ที่ 3 ชม. (บางโรคนานกว่านี้อีก) รพ. เอกชน อยู่ที่ 30 นาที สมมติว่าคนไทยทุกคนมีประกันสุขภาพหมด ทุกคนวิ่งไป รพ. ที่สะดวกทั้งรัฐและเอกชน ยังไงเวลารอตรวจเฉลี่ยก็ไม่ต่ำกว่า 1-1.30 ชม. ขึ้นไปอยู่ดี เพราะจำนวนแพทย์ต่อประชากรก็มีจำกัด นี่ยังไม่นับการทำธุรกิจของ รพ. เอกชน ที่ไปตั้งศูนย์ตามเมืองใหญ่ เพื่อรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะยังไงในสายตาญี่ปุ่น ยุโรป ค่าใช้จ่ายในเมืองไทยก็ถูกกว่าประเทศเค้าอยู่ดี เงินเกษียณอายุอยู่ได้จนถึงอายุ 100 ปี เลยมั๊ง
เคยเล็บขบที่หัวแม่เท้าทั้งสองข้าง ต้องเอาออก ครั้งแรกใช้บริการโรงพยาบาลรัฐ แม่เจ้าประคุณเอ๊ย ทรมานเจียนจะขาดใจ ไม่ได้โม้นะ แถมต้องเดินเป็นคนขาเป๋อยู่เกือบสองเดือนกว่าจะหาย แถมมีอาการอีกเป็นระยะๆ ยังกะรักษาไม่หาย ต่อมาผึ้งเปลี่ยนงาน ต้องใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนเพราะใกล้สุด เขาทำแป๊ปๆ ก็เสร็จแล้ว แทบไม่เจ็บเลยนอกจากตอนฉีดยาชา แล้วเขาจะไม่ฉีดเหมือนหมอรัฐบาลนะ ที่โรงพยาบาลรัฐเขาเล่นฉีดลงบนเนื้อที่อักเสบ แทบจะถีบหมอเลย (อีกตอนรอให้ยามันออกฤทธิ์ เราบอกยังไม่ชา หมอดันเถียงว่าชาแล้วอีกแน่ะ นี่มันตรีนกุนะเว่ย) แต่ที่เอกชนเขาฉีดตรงโคนนิ้ว แล้วไล่ให้ยามันขึ้นไปตรงจุดที่ต้องถอดเล็บ พอเสร็จงาน ปวดหนึบๆ อยู่สักอาทิตย์เองมั้ง ก็หายเป็นปกติ ปีกว่าแล้วไม่มีอาการอีกเลย
โดนมากะตัวตอนจะคลอดไอ้หมูน้อยของกระพ๊ม... ... อุตสาห์ย้ายที่ฝากครรภ์มาที่ รพ.นี้ (อยู่แถวๆอ้อมน้อยนั่นแร๊ะ) แถวบ้านแม่ยาย ช่วงฝากครรภ์ก็ตรวจปกติ แต่พอใกล้คลอดหมอนัดวันแอดมิทมาเลย... เราก๊ะไป ยังไงก๊ะเชื่อหมอ (ไม่เชื่อเมิง แล้วจะไปเชื่อหมาที่ไหน) นอนวันแรก... บอกมดลูกยังไม่เปิด ต้องรอ... อีกวันบอกตรวจเม็ดเลือดขาวแม่แล้ว น้อยไปอันตราย รอสั่งจากกาชาด... อีกวัน... เม็ดเลือดยังไม่ได้... ... สุดท้ายหมอคนจะผ่าบอกผ่าได้ แต่หมออีกตัวบอกไม่ให้ผ่าเสี่ยงไป... หมอเจ้าของไข้เลยบอกให้ย้ายไป รพ.อื่นเหอะ นอนอยู่แบบนี้ไม่มีประโยชน์ (หมอที่ดูแลครรภ์ ค่อนข้างดีและตรงไปตรงมา) เน้นคำว่า... เสียเงินฟรี... แล้วสั่งพยาบาลให้ช่วยหา รพ. ใหม่ให้ด่วน ... อีดวกพยาบาลทำไม่สนใจเลยพอรู้หมอให้ย้าย บอกแค่เดี๋ยวถือใบหมอนี่ไป ไปที่ไหนก็ได้เค้ารับหมดแหละค่ะ... พูดกับแม่มร้อยเที่ยว แม่มก็พูดแค่เนี้ย (กรูรู้กรูจะมาหา รพ. หาแม่มเร๊อะ...) สุดท้ายน้องแฟนเห็นไม่ได้เรื่องแน่ๆ ติดต่อญาติๆ นึกได้ญาติสนิทอยู่รามาฯนี่หว่า... โทรปั๊บ บ้ายนั้นแอดมิททั้นที (เพื่อนพ่อตาก็ หน.พยาบาล ออกมาเดินเรื่องเองเลย) วันรุ่งขึ้นเจ็บท้องตั้งแต่ตีสี่ หมอตัดสินใจผ่าคลอดเที่ยงกว่าๆ... ... มารู้รายละเอียด ที่แรกแม่มฉีดยาเร่งคลอดแล้ว ที่รามาฯรู้หมอตรวจละเอียดยิบเลย ดีที่คลอดมาแข็งแรงทั้งแม่ลูก... ตรวจเลือดออกมา ปกติทุกประการไม่มีอะไรตกไปสักรายการ... เสียเงินไปฟรีๆเกือบสามหมื่น... (เท่าที่อีดวกพยาบาลนั่นบอก คชจ,คร่าวๆ กรณีเลือดไม่พอ รอผ่าด้วย... เฉียดแสน... ตอนนั้นก็เท่าไหร่เท่ากันแล้ว คิดในใจ) มาผ่าที่รามาฯ เบ็ดเสร็จหมื่นกว่าๆ... ไอ้หมูน้อยอยากเป็นเดกเต๊บ ก๊ะไม่บอก... เอิ๊กๆๆๆ ... น้องแฟนตอนแรกจะเอาเรื่อง (นักข่าวเก่า) แต่กระพ๊มคิดไปคิดมา... มันคงเป็นกรรม... เลยจบๆกันไป๊...
คุณย่าผมก็หมดไปหลายแสน สุดท้ายก็ไม่รอดครับ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง แถวๆ บางบัวทอง คุณพ่อ คุณแม่ ตอนนี้ใช้บริการ รพ.ภูมิพลฯ เสียเวลารอคิวหน่อย แต่หมอโอเคดีครับ เฉพาะทางราคาไม่แรง แต่สบายใจกว่าครับ คือชัดเจนดี อนึ่ง คุณพ่อโดนน้องหมาที่บ้านกัด ไป รพ.รัฐ (ภูมิพลฯ) ทำแผลล้างแผล ฉีดยากันพิษสุนัขบ้า เบ็ดเสร็จพันกว่าบาท คุณแม่ไป รพ.เอกชน กว่าจะถึงยาเข็มสุดท้าย หมดไปหมื่นกว่าบาท กี่เข็มหว่า ยากันพิษสุนัขบ้า ต่างกันจริงๆ
ถ้าจ่ายแพงกว่า แต่บริการดีกว่า และมาตรฐานทางการแพทย์ดี ผมจะไม่บ่น เอกชนบางรายก็ได้มาตรฐานแบบนั้น หมอดี บริการดี ราคาสมเหตุสมผล ผมคิดว่าคุณภาพแบบนี้มีเป็นส่วนน้อย เพราะกว่าผมจะหาเจอก็ผ่านหลายโรงพยาบาล เรียกว่าลองแล้วเกือบทุกโรงในละแวกบ้าน ก่อนหน้านั้นหลายรายนี่ ผมนั่งให้หมอตรวจแล้วไม่เกิดความเชื่อมั่นเลย ถามรายละเอียดไปก็อ้ำ ๆ อึ้ง ๆ จนผมสงสัยว่าหมอจริงรึเปล่าวะ อีกทีนึงผมถามผลตรวจเลือด ปรากฏว่าหมอลืมติ๊กไปหนึ่งรายการ เลยไม่รู้ผล พอดีผมหาย ก็เลยไม่ได้ซักไซ้ต่อ แล้วแพงกว่าเอกชนอีกรายที่คุณภาพดีกว่าด้วย
อีกเรื่องที่เอกชนเป็นเหมือนกันเกือบทุกที่ คือยัดเยียดยา เป็นหวัดนิด ๆ หน่อย ๆ คุณพี่หมอสั่งยาให้เต็มเหนี่ยว ยาปฏิชีวนะนี่มาบ่อยมากเลย ที่สำคัญแพงกว่าท้องตลาดข้างนอกเท่าตัว นี่มันยุคไหนแล้ว ไม่ได้รู้เลยเหรอว่าหมอดี ๆ เขาจะให้ใช้ยาเฉพาะที่จำเป็น ผมเนี่ยต้องคอยดักทาง ก่อนหมอจะเขียนสั่งยา ผมชิงบอกก่อนเลย "ที่บ้านมีพาราอยู่แล้วนะครับ ลดน้ำมูกก็ยังเหลือนะครับ"
ทำประกันและทำงานกับหน่วยงานที่ ให้เข้ารักษารพ.เอกชนได้ เขาไม่ใช่จะให้เข้าทุกรพ.นะครับ ไอ้ที่แพงเกินเหตุเขาไม่ให้เข้า ถ้าเข้าคุณต้องเสียเงินเอง ถ้ามีทางเลือกได้ก็ไม่เป็นไร แต่เหมือนที่ผมอยู่ ทั้งอำเภอมีรพ.เอกชนอยู่แห่งเดียว เท่ากับ ถ้าอยากเบิกได้ก็ต้องวิ่งเข้าตัวจังหวัด ผมไม่ได้ว่ารพ.เอกชนโหดทุกราย แต่บางรายมันกินเลือดกินเนื้อกันชัดๆ กรณีคนค้านนั้น ผมก็เห็นด้วยว่าอย่าบีบจนเขาอยู่ไม่ได้ แต่มองอีกมุมจะได้ไหม ถ้ารพ.เอกขนไหนที่ คิดราคาพอสมควร ต่อให้มีการปฏิรูป ควบคุมค่ารักษา เขาก็ไม่เดือดร้อน เพราะเขาทำถูกต้องอยู่แล้ว การควบคุมคงไม่มีใครบ้าบอถึงขนาดบีบรพ.เอกชนทุกโรงจนเดี้ยงกันหมด เพราะเขาต้องมีหลักเกณฑ์ พอสมควร แต่รพ.เอกชนที่คิดราคาโหดร้ายต่างหาก ที่เดือดร้อน เพราะกินคำโตกันจนเพลิน ยัดเยียดยานี่เดาได้ก่อนเลยว่าเป็นพวกขาโหด ให้ยามากๆ จะได้คิดแพงๆ เวลาผมรับยา หาทุกครั้งได้ยามาถุงโตทุกครั้ง ผมจะแกล้งถามเภสัชว่า ตัวไหนจำเป็น ตัวไหนไม่จำเป็น เพราะไม่กล้าบอกหมอเหมือนคุณ กลัวโดนหมายหัว แต่ถ้ากินตามที่หมอให้ทุกอย่าง ผมกลัวไตผมจะเดี้ยงเสียก่อน ยาที่ภรรเมียผมไปหาเพราะไอนั้นได้ยามา 6 อย่าง เลยโดนไป 5000 กว่าบาท ปล.ภรรเมียเพื่งบอกว่า ได้ยามา 8 อย่างครับ ไม่ใช่แค่ 6 ------------------------------------------------------- กรณีนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้ออกแถลงการณ์ ข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี นั้น ผมก็ว่าเกินไปหน่อย แต่คณะกรรมการที่ตั้ง(ถ้าได้ตั้ง) ผมว่าเขาต้องมองรอบด้านพอควร ไม่ใช่จะทำตามข้อเรียกร้องทั้งหมด
ที่ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ (เป็นเอกชน)ยาถูกนะยาแก้ไอลูกข้างนอก25 โรงพยาบาล35 ก็ถือว่าพอรับได้ แถมหมอยังถามเองว่าเหลือยาอะไร แล้วหมอก็จ่ายยาแค่ที่ขาด (พอดีลูก อ1 ป่วยบ่อย ปีนี้เฉลี่ยเดือนละครั้ง) ยาปฏิชีวนะบางตัวแพงๆผมยังบอกหมอตรงๆเลยว่าขอมาซื้อข้างนอก หมอก็ไม่ว่าอะไร ไปที่นี่แล้วชอบเลยเชียร์ครับ
โรงพยาบาลเอกชนค่ารักษาแพง : ปัญหาและทางออก (1) เขียนวันจันทร์ ที่ 25 พฤษภาคม 2558 เวลา 18:00 น. เขียนโดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน ค่ายาและค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแพงหรือแพงมหาโหด มีต้นเหตุทั้งที่สมควรและไม่สมควร ปัจจุบันการรักษาพยาบาลมีต้นทุน ทั้งในระบบโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โรงพยาบาลรัฐราคาย่อมเยากว่า เพราะรัฐใช้งบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างอาคาร เครื่องมือ ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร และ ค่าใช้สอยต่างๆ เช่น ค่าไฟฟ้า ประปา นอกจากนี้ยังมีผู้บริจาคเพิ่มให้อีกส่วนหนึ่งด้วย ขณะที่เอกชนต้องเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนจึงต้องแพงกว่าในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่สมควรและยอมรับได้ สำหรับสาเหตุที่ไม่สมควรและเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแพง หรือ แพงมหาโหด เกิดจากระบบบริการที่ฉ้อฉล และระบบการควบคุมตรวจสอบล้มเหลว เหตุดังกล่าว คือ การให้บริการตรวจวินิจฉัย รักษา และรับไว้ในโรงพยาบาลที่เกินสมควร ไม่จำเป็น ในลักษณะจงใจเพิ่มรายได้และผลกำไร กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในโรงพยาบาลเอกชน มากกว่าในโรงพยาบาล ของรัฐ แยกเป็นกรณีต่างๆ ได้ดังนี้ กรณีแรก เป็นกรณีการจ่ายยาที่เกินจำเป็น กรณีเช่นนี้มีมากมาย ขอยกอีกตัวอย่างเดียว คือ กรณีท้องเสีย ซึ่งส่วนมากก็เป็นโรคหายเองได้ เพราะอาการท้องเสียคือกลไกของร่างกายในการขจัดเชื้อโรคออกไป เมื่อเชื้อหมดโรคก็หายไปได้เอง ความจำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อโรคมีอยู่น้อย โดยเฉพาะในเด็ก เชื้อโรคที่ทำให้ท้องเสียส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มียาปฏิชีวนะที่จะฆ่าเชื้อไวรัสเหล่านั้นได้ การรักษาที่สำคัญคือการให้น้ำและเกลือแร่ทดแทนที่เสียไปจากอาการท้องเสีย ซึ่งส่วนมากสามารถทดแทนได้โดยกินน้ำตาลเกลือแร่ราคาถูกๆ หรือในผู้ใหญ่อาจใช้น้ำอัดลม ใส่เกลือก็บรรเทาอาการขาดน้ำและหายจากโรคได้ กรณีดังกล่าวนี้ เมื่อไปโรงพยาบาลเอกชน แทนที่จะหายจากโรคโดยเสียค่าน้ำตาลเกลือแร่ไม่กี่สตางค์ ก็อาจจะถูกรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลและเสียค่ารักษาพยาบาลนับพัน นับหมื่น หรือนับแสนได้ กรณีที่สอง ที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแพงหรือแพงมหาโหด โดยไม่สมควร คือการรับไว้ในโรงพยาบาล (Admission) โดยไม่สมควรและไม่จำเป็น กรณีคนไข้ที่ท้องเสียตามที่ยกตัวอย่างมาแล้วจำนวนมาก ที่ไม่จำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพราะสามารถรักษาหายโดยปลอดภัยได้ด้วยการรักษาแบบคนไข้นอก อาจจะถูกแพทย์สั่งให้รับไว้ในโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถเพิ่มการตรวจรักษา เพื่อเพิ่มรายได้และกำไรแก่โรงพยาบาลอีกมาก วิธีการก็อาจทำโดยการ “แจ้ง” แก่คนไข้ว่าต้องนอนโรงพยาบาล หากกลับบ้านอาจมีอันตรายร้ายแรงถึงตายได้ กรณีดังกล่าว คนไข้และญาติคนไข้เกือบจะร้อยทั้งร้อยก็ย่อมกลัวตาย และยอมเป็นคนไข้ในโรงพยาบาล ผู้เขียนเคยเป็นกรรมการแพทย์ในคณะกรรมการการแพทย์ประกันสังคม เคยไปเดินตรวจโรงพยาบาลเอกชน พบคนไข้ประเภทนี้จำนวนไม่น้อย ท่านรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธาณสุขต่างก็เป็นแพทย์ทั้งสองท่าน ลองหาโอกาสไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเอกชนแบบไม่บอกให้รู้ล่วงหน้า หรือส่งทีมออกไปเดินสำรวจก็จะพบปัญหาดังกล่าวนี้ได้ไม่ยาก กรณีที่สาม ที่พบได้ไม่น้อย คือ การผ่าตัดที่ไม่จำเป็น ผู้เขียนเคยประสบด้วยตนเอง เมื่อราว 20 ปีมาแล้ว มีญาติอายุประมาณ 50 ปี เส้นโลหิตในสมองแตก จากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง (Arterio-venous หรือ A-V malformation) รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อไปเยี่ยมตรวจอาการและขอดูเวชระเบียนพบว่าสมองตาย (Brain Death) แล้ว ซึ่งย่อมแปลว่าไม่มีโอกาสหายหรือฟื้นแล้ว ถามน้องชายของญาติที่เฝ้าอยู่ บอกว่าหมอกำลังจะผ่าตัดสมอง ซึ่งจะมีโอกาสรอด 3% ผู้เขียนแนะนำว่าความจริงน่าจะเหลือ 0% แล้ว แต่น้องชายบอกว่าเมื่อหมอบอกมีโอกาสรอด 3% แม้เสียค่าใช้จ่ายเท่าไรก็ยอม ทั้งๆ ที่มิใช่คนมีฐานะดีอะไร ในที่สุดคนไข้ก็ถูกผ่าตัด เสียเงินไปอีกราว 4 แสน สมัยนั้น และเสียชีวิตในวันต่อมา แน่นอนว่า คนไข้รายนี้ หากอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ ก็ย่อมไม่มี “แรงจูงใจ” ให้ผ่าตัดที่ไม่จำเป็น และไม่สมควรเช่นนั้น กรณีที่สี่ นอกจากการผ่าตัดที่ไม่จำเป็นและไม่สมควรแล้ว ยังมีการสั่งตรวจและรักษาที่ไม่จำเป็นอื่นๆ อีกมากมาย คนไข้สูงอายุจำนวนมาก ที่หมดสติหรืออาจเสียชีวิตแล้ว ญาตินำส่งโรงพยาบาล หากเข้าโรงพยาบาลเอกชน จะมีการนำเข้าห้องไอซียู (ICU หรือ Intensive Care Unit) ใส่เครื่องช่วยพยุงชีพมากมาย ด้วยความหวังที่จะกู้ชีพให้ฟื้นคืนมา คนไข้เหล่านี้ส่วนหนึ่งสมควรช่วยเหลือเยียวยาเพื่อให้รอดหรือหาย แต่มีจำนวนไม่น้อยที่สมองตายแล้ว ไม่ควร “ยืดความตาย” แต่โรงพยาบาลเอกชนมีแรงจูงใจสูงที่จะสั่งการตรวจวินิจฉัยเพื่อยืดการตาย เพราะจะเพิ่มรายได้และผลกำไรให้ได้มากมาย คนไข้บางรายที่ “สิ้นหวัง” แล้ว จะต้องตายอย่างแน่นอน นอกจากการพยายามให้ความหวังและสั่งการตรวจรักษาไปเรื่อยๆ แล้ว ในวาระสุดท้าย โรงพยาบาลเอกชนมักมี “ประเพณีปฏิบัติ” ที่จะเชิญแพทย์ที่ปรึกษาหลายๆ แขนงมาตรวจเพื่อ “ช่วยคนไข้” โดยอ้างเหตุผลว่าเผื่อจะมีความหวังบ้าง ซึ่งในอีกแง่หนึ่งคือ การมาช่วยกัน “รีด” เอาจากคนไข้และญาติอีกหนึ่งรอบ ก่อนจะ “ปล่อย” ให้หลุดมือไป กรณีดังกล่าวนี้ เป็นปัญหาในประเทศทุนนิยมหลายประเทศทั่วโลก เพื่อมิให้ปัญหานี้ขยายตัวในประเทศไทย ช่วงที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อ “ปฏิรูประบบสุขภาพ” ในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ จึงมีการผลักดันจนเกิดมาตรา 12 ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงเจตนาล่วงหน้าที่จะไม่ขอรับการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิต เพื่อยืดความตาย หรือ ยืดความทุกข์ทรมานออกไป โดยกฎหมายบัญญัติให้แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขสามารถยุติการรักษาดังกล่าวได้โดยไม่มีความผิด ปรากฏว่า แพทยสภากลับเป็นฝ่ายออกมาคัดค้านมาตรการดังกล่าวอย่างแข็งขัน โดยอ้างจรรยาบรรณวิชาชีพ ทำให้กฎหมายที่ออกมาแล้วไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควรจะเป็นมาจนทุกวันนี้ กรรมการแพทยสภาหลายคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมในโรงพยาบาลเอกชน เพราะการยืดความตายในช่วงท้ายของชีวิต ย่อมทำรายได้ และผลกำไรให้แก่โรงพยาบาลเอกชนอย่างเป็นกอบเป็นกำ กรรมการในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นนักธุรกิจใหญ่ เล่าให้ฟังด้วยความขมขื่นว่าว่า ตอนแม่ใกล้จะเสียชีวิต จะขอนำกลับไปบ้าน แต่ทางโรงพยาบาล(เอกชน) ไม่ยอม ต้องหมดไปอีกราว 20 ล้าน โรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย เติบโตและมีอิทธิพลจนกลายเป็น “สัตว์ประหลาด” (monster) อย่างก็อตซิลลาที่ควบคุมไม่ได้ไปแล้ว จะหวังให้กลายเป็นก็อตซิลลาภาคล่าสุด คือ ก็อตซิลลา ที่มีจิตเมตตาต่อมนุษย์ก็คงยาก ปัญหาเหล่านี้ย่อมไม่เกิดถ้าแพทย์ยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่แพทย์ในโรงพยาบาลเหล่านี้จะยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพได้อย่างไร เพราะถ้าทำเช่นนั้น ก็จะถูกผู้บริหารตำหนิ กดดัน และต้องลาออกไปในที่สุด หลายคนจึงจำต้องปรับสภาพจากมนุษย์ “ผู้มีปัญญาอันเลิศ” เป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” (Homo economicus) ไปในที่สุด แพทยสภา ซึ่งควรทำหน้าที่ปกป้องจรรยาบรรณวิชาชีพก็หวังอะไรไม่ได้ เพราะโครงสร้างปัจจุบันของแพทยสภา ทำให้มุ่งปกป้องวิชาชีพ แทนที่จะปกป้องประชาชน ประเทศที่เจริญแล้วอย่างอังกฤษ จึงไม่ยอมให้แพทย์ “ควบคุมกันเอง” อย่างของประเทศไทย แต่กฎหมายอังกฤษกำหนดให้มีภาคประชาชนเข้าไปเป็นคณะกรรมการแพทยสภาถึงครึ่งหนึ่งแล้ว http://www.isranews.org/isra-news/item/38819-isranews_38819.html
เกือบทุกครั้งที่เข้าโรงพยาบาล ไม่ว่าเจ็บหนักเจ็บเบา หมอถามก่อนรักษา ประกันจ่ายได้เท่าไหร่? ... รักษาเสร็จ จ่ายเพิ่มอีก 100 บาท ที่เหลือ เคลมจากประกันหมด มันช่างพอดีแป๊ะๆ เกือบทุกครั้งเลย
ที่จริงการมีประกัน ก็มีข้อดีในเรื่องที่ทำให้ควักเงินจ่ายค่ารักษาน้อยที่สุดนี่แหละ แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตุว่า พอ รพ.เอกชนรู้ว่าเรามีประกัน ก็จะประเคนยา เครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์มาเต็มที่ .......ข้อดีก็คือ เราจะได้ยาดีที่สุด การรักษาที่ดีที่สุด แต่ข้อเสียกลับเยอะกว่าคือ เมื่อ รพ. จัดเต็มแบบนี้ก็จะไปเก็บกับประกัน แล้วก็จะกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้ บ.ประกัน ปรับเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น และข้อเสียต่อสุขภาพคนไข้อีกเรื่องก็คือ ผู้ป่วยอาจจะได้ยาเยอะจนเกินความจำเป็น ทำให้ร่างกายได้รับสารเคมีมากเกินไปและ ตับ ไต ต้องทำงานหนักจนเกิดโรคอื่นตามมาอีก
มันพูดยากครับ อย่างอาแป๊ะผมที่รวยมาก ถ้าไม่ทำครบทั้ง4ข้อญาติๆเขาโกรธหมอเลยนะ เขาสั่งเลยว่าต้องการรักษาให้ดีที่สุด เสียเงินเท่าไหร่ไม่ว่า ตอนนี้ก็เสียจากมะเร็งไปแล้ว คชจ10ล้านพอดี จริงๆมันอยู่ที่เราเอง ที่สำคัญคืออย่าอายที่จะพูดเรื่องเงิน ถ้าถามแล้วไม่ไหวให้แพทย์ทำเรื่องส่งตัวไปรัฐ ดีกว่าไม่กล้าถามแล้วต้องมาตั้งกระทู้ด่าที่หลัง ส่วนกรณีแรกที่ยกตัวอย่างเด็ก พ่อแม่บางคนเขาไม่ชอบที่หมอจ่ายยาน้อยนะ พอไม่ชอบบางทีขอเปลี่ยนหมอเลย คนบางกลุ่มเขามีกำลังจ่ายได้สบายๆ และเอกชนเขาก็สร้างมาเพื่อลูกค้ากลุ่มนี้ เราต้องรู้จักประมานตน ไม้ใช้ไปสร้างกฎเพื่อให้เขาลดมาตราฐาน ไปตอบสนองกลุ่มที่ไม่ใช้
เหนื่อยใจกับคนป่วยประเทศไทย ขอย้อนกลับไปที่ต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหากันเลยดีกว่า อยากจะบอกความจริงว่า ประเทศไทยเป็น 1 ในไม่กี่ประเทศในโลกที่ใช้ระบบโรงพยาบาลเอกชนแบบ Full commercial คำถามต่อมา Full commercial คืออะไร Full commercial คือตามใจคนไข้ทุกอย่าง อยากได้อะไรจัดให้ ในต่างประเทศเช่น สหรัฐหรืออังกฤษ การรักษาพยาบาลโดยส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับระบบประกันสังคม ซึ่งระบบประกันสังคมเหล่านั้นจะเป็นโปรแกรมตามบริษัทประกันสุขภาพต่างๆ เป็นผู้ออกแบบโปรแกรมมา การรักษาต่างๆ จะอิงตามแนวทางการรักษา (guideline) ของแต่ละโรคชัดเจน ดังนั้นการรักษาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนจะเดินตามแนวทางเดียวกันทั้งหมด ค่าใช้จ่ายที่ต่างกันในแต่ละโรงพยาบาลจะขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับความสะดวกสบาย ไม่ใช่การวินิจฉัยโรค แต่ของประเทศไทยกลับไม่เป็นอย่างนั้น สิ่งที่คนในประเทศนี้ต้องการคือความรวดเร็ว คิดว่าทุกคนคงเคยได้ยินเรื่องแบบนี้มาบ้าง ประสบอุบัติเหตุรถชน มีหมดสติไปชั่วครู่ ตื่นมารู้สึกตัวดี ไป รพ.รัฐ ให้สังเกตุอาการ 72 ชั่วโมง ถ้ามีอาการปวดหัว, อาเจียน, ความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง จึงจะทำเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT brain) แต่ไปโรงพยาบาลเอกชน อยากทำ CT brain ก็ได้ทำทันที ถ้าผลไม่มีความผิดปกติ กลับบ้านได้เลย จ่าย 8,000 บาท ผลที่ตามคือ คนไข้และญาติกลับยกย่อง รพ.เอกชน แล้วตำหนิ รพ.รัฐ ว่ารักษาช้า ไม่ยอมส่งตรวจวินิจฉัย เห็นความแตกต่างไหมครับ รพ.รัฐ เดินตาม guideline ของสมาคมโรคนั้นๆ แต่ช้าไม่ทันใจ แต่สิ่งที่ รพ.เอกชน ทำคือการวินิจฉัยที่เกินจำเป็น (Over investigation) แต่ถูกใจคนไข้และญาติ ยิ่งปัจจุบันการฟ้องร้องยิ่งมีมากขึ้น การแพทย์แบบป้องกันตัวเอง (Protective medicine) กำลังกลายเป็น Trend ของ รพ.เอกชน กระบวนการ Over investigation ยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อป้องกันตัวเองจากการฟ้องร้อง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ยิ่งมากขึ้น สิ่งที่สังคมไทยต้องพิจารณาตอนนี้คือ เราจะเดินหน้าไปในแนวทางไหน จะไปตาม guideline แต่ช้าเหมือนระบบอังกฤษหรืออเมริกา หรือไปตาม Full commercial ฉันอยากได้อะไรก็ต้องได้ แต่ต้องแลกกับ Over investigation ที่มากขึ้นเรื่อยๆ กระแสสังคมกลับไปพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายที่เป็นปลายเหตุ แต่ไม่มีใครเคยคิดถึงต้นเหตุจากการเอาแต่ใจที่อยากลัดขั้นตอนการรักษากันบ้าง ประเทศนี้กำลังแก้ปัญหาแบบตีลังกาแก้โจทย์กันอยู่หรือเปล่า
เอาเป็นว่าตัวอย่างเล็ก ๆ แล้วกัน มียาอยู่ตัวหนึ่ง ทีใช้พ่นจมูก ชื่อ นาโซเน็กซ์ รพ. คิด เกือบ ๆ สามพัน ผมยกเลิก ไปซื้อ ร้านขายยา เหลือ 800 ราคาต่างกันนิดเดียวเอง 55
***ร้านขายยามีที่จอดรถให้คุณป่าว รพ.เอกชนมี ***ร้านขายยามีประชาสัมพันธ์ และเจ้าหน้าที่ คอยอำนวยความสะดวกให้ป่าว รพ.เอกชนมี ***ร้านขายยามีที่นั่งรอคิว มีหนังสือให้อ่าน พร้อมแอร์เย็นๆ บริการน้ำดื่มเพื่อสุขภาพป่าว รพ.เอกชนมี ฯลฯ ที่เกินจาก 800 คงมีค่าใช้จ่ายพวกนี้รวมอยู่ด้วย