สปสช. ครับ เราจะอยู่กันอย่างนี้ใช่ไหม “ฆ่าตัวตายแล้วได้เงิน”? นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ข่าว “ตูน บอดี้สแลม” ออกวิ่งครั้งที่สองภายในเวลาห่างกันไม่ถึงปี เพื่อหาเงินช่วยเหลือโรงพยาบาลรัฐ ที่ฐานะการเงินร่อแร่ คุณภาพมาตรฐานตกต่ำ ถือเป็นกรณีขยับปีกแต่สะเทือนถึงดวงดาว (Butterfly effect) อีกกรณีหนึ่ง ที่ยิ่งตอกย้ำความล้มเหลวของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. สิบกว่าปีที่ผ่านมา สปสช. ประชาสัมพันธ์มาตลอดว่า ตนเองประสบความสำเร็จในการลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล แต่เบื้องหลังของความสำเร็จนี้ กลับน่าสะพรึงกลัวเหตุเพราะวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งการลดค่าใช้จ่ายนั้น คือ“การเบี้ยวค่ารักษาพยาบาล และการบีบให้ลดมาตรฐานการรักษาพยาบาลทางอ้อม” ซึ่งยังผลให้ต้องแลกกับชีวิตคนเจ็บไข้และในขณะเดียวกัน รพ.และบุคลากรรัฐกลับตกเป็นคนร้ายในสายตาของผู้ป่วยและญาติ นอกจากนี้ สปสช. ยังมีกรณีกระทำผิดที่ละม้ายกับกรณีเงินทอนวัด ด้วยการตีความกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัทในเครือข่าย NGO และตระกูล ส. ว่าเป็นเสมือนหน่วยบริการ!!! ทำให้คนในเครือข่ายที่ไปตั้งบริษัทไว้รอท่าเหมือนนกรู้ เนรมิตสารพัดโครงการเพื่อดูดเงินที่รัฐจัดมาให้เพื่อช่วยชีวิตคน ไปเข้าองค์กรของตนเอง จนเมื่อปีที่แล้วสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต้องออกมาชี้มูลความผิดทั้งกรณีไม่เสียภาษีเงินได้ (ไม่รู้ว่าคืนกันครบแล้วหรือยัง?) พร้อมกับออกหนังสือให้เจ้ากระทรวงตั้งกรรมการสอบ สปสช. เพราะทำผิดกฎหมายหลักประกันสุขภาพ แต่จนทุกวันนี้อย่าว่าแต่ผลสอบเลย แม้แต่รายชื่อกรรมการที่จะมาสอบสวนก็ยังไม่มีประกาศออกมา เรื่องนี้พิสูจน์ให้รู้ว่า “ใครใหญ่กว่าใคร” ระหว่าง สตง. และเจ้ากระทรวง vs ประธานบริษัท ส. (มหาชน) นอกเหนือจากบอร์ดหลักของ สปสช.ที่ตีความกฎหมายเกินเลยจากที่บัญญัติแล้ว บอร์ดเล็ก “คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข” ก็เช่นกัน เหตุเพราะมีการตีความการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ผิดเพี้ยนไปจากเนื้อหาของกฎหมาย อันเป็นเหตุต่อเนื่องที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาล ว่าแพทย์พยาบาลไปสร้างความเสียหายให้กับผู้ป่วย จนกระตุ้นให้มีการร้องเรียนและฟ้องร้องบุคลากรเพื่อหวังผลเรื่องเงิน แผ่ไปในวงกว้าง ม.41 นั้นได้บัญญัติไว้ให้มีการกันเงินเพื่อจ่ายช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยหรือญาติ โดยมี ข้อแม้ ที่สำคัญคือ (1) ผู้ป่วยต้องได้รับความเสียหาย (2) ความเสียหายนั้นต้องเกิดจาก“การรักษาพยาบาล” โดยบุคลากรของสถานพยาบาล (3) ผู้ป่วยหรือญาติยังไม่รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันควรจากผู้กระทำผิด หรือหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ ทั้งนี้เกณฑ์ในการพิจารณาว่าเป็นความเสียหายหรือไม่นั้น ให้ถือหลักว่า “หากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลตามปกติจากพยาธิสภาพของโรคที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาตามมาตรฐานแล้ว จะไม่ถือว่าเป็นความเสียหายตาม ม.41” ซึ่งต้องห้ามการจ่ายเงิน แต่ที่ผ่านมามีหลายกรณีที่ บอร์ดเล็ก ไปตีความหลายกรณีว่าเป็นความเสียหาย ทั้ง ๆ ที่มิใช่ความเสียหาย หากแต่เป็นตามพยาธิสภาพหรือเป็นเรื่องปกติของการรักษาพยาบาลนั้น ๆ ด้วยการออกข้อบังคับย่อยที่เกินเลยไปจากที่บัญญัติไว้ เช่น (1) ตีความเกินเลยว่า “เกิดจากการรักษาพยาบาล” ...จุดประสงค์ของการบัญญัติเช่นนี้ก็เพื่อให้มีการจ่ายเงินหากความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำของบุคลากรที่ให้การรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่บอร์ดเล็กไปตีความว่าหากระบบมีปัญหาก็ให้เรียกว่าความเสียหายจากการรักษาพยาบาล เช่น กรณีอนุมัติให้จ่ายเงินต่อเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ไม่มีแพทย์เฉพาะทางหรือเครื่องมือไม่พร้อม แล้วต้องมีการส่งต่อ กรณีเช่นนี้เป็นปัญหาของระบบ มิใช่ เกิดจากการกระทำของบุคคลในการรักษาพยาบาล (2) ไปตีความว่าเป็นความเสียหาย ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ความเสียหาย หากแต่เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้จากการรักษาพยาบาล ...ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ “กรณีทำหมันแล้วท้อง” ... แพทย์ทั่วโลกทราบกันดีว่า ไม่มีวิธีทำหมันแบบใดที่ป้องกันการท้อง 100% แม้จะตั้งชื่อว่า “หมันถาวร” ก็ตามที ดังนั้นในรายงานการแพทย์ทั่วโลกจะมีอุบัติการณ์ทำหมันแล้วท้องได้เสมอ ๆ เหตุเพราะท่อนำไข่ที่แพทย์ตัดออกไปมีโอกาสต่อติดได้เองในบางราย ในต่างประเทศจึงไม่เคยมีกรณีที่ศาลใดตัดสินให้แพทย์ผิดหากพิสูจน์ได้ว่าตัดท่อนำไข่ออกไปแล้วจริง ๆ แต่บอร์ดเล็กกลับไปสร้างมาตรฐานว่า “การทำหมันแล้วท้องคือความเสียหายตาม ม.41!!!” นับแต่นั้นสาธารณชนที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์ก็พร้อมใจเชื่อว่าหากทำหมันแล้วยังท้อง แสดงว่าแพทย์ก่อความเสียหาย ดังนั้นต้องรับผิดในตัวเด็กที่เกิดขึ้นมา!!!! ด้วยการจ่ายเงินค่าเสียหายเพื่อเลี้ยงดูเด็ก (ทั้ง ๆ ที่แพทย์ไม่ได้เป็นคนทำให้ท้อง!!) ล่าสุดมีกรณีร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม ว่าเป็นความผิดของแพทย์ และออกมาเรียกร้องให้รับผิดชอบต่อค่าเลี้ยงดูเด็ก (3) ในบางกรณีแพทย์กระทำผิดจริง ๆ แต่ได้มีการยอมรับและจ่ายเงินเยียวยา (ส่วนตัว + รพ.ช่วยออกให้) ไปแล้ว แต่ผู้รับเงินยังมาเรียกเงินเพิ่มเติมจากมาตรา 41 เพิ่มอีก ทั้ง ๆ ที่ในเงื่อนไขของการจ่ายเงิน ระบุว่าให้จ่ายเมื่อไม่มีคนยอมรับผิด หรือไม่ได้รับเงินมาก่อน ล่าสุดบอร์ดเล็ก ได้สร้างมาตรฐานใหม่ที่น่าตกใจว่า “หากเกิดการฆ่าตัวตายในโรงพยาบาล จะมีการจ่ายเงินให้กับญาติ” โดยตีความเป็น “ความเสียหายจากการรักษาพยาบาล”!!! ทั้ง ๆ ที่ไม่มีบุคลากรคนใดไปฆ่าหรือทำร้ายผู้ป่วยให้ตาย มีแต่ให้การรักษาพยาบาล ปัญหาของกรณีนี้เกิดจากความพยายามของผู้ป่วยที่ต้องการจะตายและเคยทำมาหลายครั้งแล้ว แต่เมื่อโรงพยาบาลรับเข้าไว้เป็นผู้ป่วยใน และผู้ป่วยมากระทำสำเร็จในโรงพยาบาล กลายเป็นว่า บอร์ดเล็กไปตีความว่า “เป็นความเสียหาย + จากการรักษาพยาบาล” ทั้ง ๆ ที่เป็นผลจากโรคของตัวผู้ป่วยเอง (ภาวะทางจิตใจที่ผิดปกติ) แต่บอร์ดกลับโยนความผิดไปให้พยาบาลโทษฐานไม่ประกบติดตลอด.... มติที่ผิดเจตนารมย์ของกฎหมายโดยบอร์ดเล็กนี้ เท่ากับเป็นคำประกาศต่อสาธารณชนว่า “อย่าปล่อยให้ใครต้องตายเปล่าที่บ้านหรือท้องถนน แต่ให้มาตายในโรงพยาบาลเพื่อที่ญาติจะได้รับเงินชดเชย!!!” ซึ่งหากตรรกะนี้ถูกต้อง ก็ควรเร่งรัดให้มีกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากการผูกคอตายในห้องขังหรือเรือนจำ รวมทั้งกองทุนคุ้มครองประชาชนที่ประสบภัยบนท้องถนนจากมิจฉาชีพ กองทุนคุ้มครองนักเรียนที่ไม่ประสบความสำเร็จจากการศึกษาเล่าเรียน เช่นกัน เป็นที่น่าเสียใจว่าในขณะที่ พี่ตูน กำลังรณรงค์ให้คนทั่วประเทศทราบว่า โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศทุกวันนี้ฐานะใกล้ล้มละลายเต็มที มาตรฐานการรักษาก็ตกต่ำ จนตกเป็นจำเลยสังคม จึงจำเป็นต้องได้เงินก้อนโตเข้ามาเพื่อยกระดับคุณภาพการรักษาพยาบาล แต่กลับมีคนบางกลุ่ม ที่นอกจากจะไม่ช่วยหาเงินแล้วยังคิดแต่จะหาวิธีดูดเงินค่ารักษาพยาบาลออกจากระบบ ด้วยการให้ข่าว “ครึ่งจริงครึ่งเท็จ”ว่า หากมี กฎหมายชื่อสวยหรูว่า “พ.ร.บ.กองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” จะทำให้ทุกชีวิตได้รับการรักษาที่มีคุณภาพมากขึ้น หมอกับคนไข้จะรักกันมากขึ้น !!!! สงสารพี่ตูนจริง ๆ ที่ไม่รู้ต้องวิ่งอีกกี่ครั้งจึงจะหาเงินมาตั้งกองทุนให้ พร.บ..คุ้มครอง ฯ นี้ได้พอ เพราะนัยว่าต้องมีเงินไม่ต่ำกว่าหลักพันล้านบาท ปล.ใครก็ได้ช่วยอธิบายทีว่าทำไม NGOตระกูล ส. ถึงยึด สปสช. ได้โดยที่ใครก็ทำอะไรพวกเขาไม่ได้? http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639056
ไม่เป็นไรครับ ใช้ทุนแค่ 3 ปี ถ้ารอดตายก็ขอโควต้าไปเรียนต่อ ถ้าไม่ได้ก็ลาออกไปอยู่เอกชนหรือสังกัดอื่น สปสช เก็บเงินไว้ใช้จ่ายเองเถอะครับ หมอเค้าไม่เดือดร้อน